xs
xsm
sm
md
lg

“ป๊อด” หน้าแหก! ศาลปกครองไม่รับฟ้องเพิกถอนชี้มูล 7 ตุลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง “พัชรวาท” ร้องขอให้ ป.ป.ช.เพิกถอนมติชี้มูล 7 ตุลาทมิฬ ชี้ไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องร้อง สั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบ

วันนี้ (25 ก.ย.) ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยและชี้มูลความผิดของป.ป.ช.ในการสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 โดยให้ป.ป.ช.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านบาท

ทั้งนี้เหตุผลของการยกคำร้องระบุว่า ในประเด็นที่ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าพล.ต.อ.พัชรวาท กระทำการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มีมูลความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นั้นเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 250 วรรคหนึ่ง(3)ของรัฐธรรมนูญในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าพล.ต.อ.พัชรวาทมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทในประเด็นนี้ตามมาตรา 223 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแต่ในประเด็นที่ป.ป.ช.ชี้มูลว่าพล.ต.อ.พัชรวาท มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและละเว้นการกระทำใดๆอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2547 มาตรา 79 (5),(6) อันเป็นการใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ป.ป.ช.2542 มาตรา 91(1) และมาตรา 92 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

แต่เมื่อพิจารณาว่าพล.ต.อ.พัชรวาทเป็นผู้มีสิทธิที่จะฟ้องคดีหรือไม่ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองบัญญัติว่า ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี ซึ่งการที่พล.ต.อ.พัชรวาทถูกป.ป.ช.ชี้มูลว่ากระทำผิด วินัยร้ายแรงฯ ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2547 มาตรา 79 (5),(6) นั้น มาตรา 92 ของพ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 วรรค 1 บัญญัติ ว่า กรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อป.ป.ช.ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดได้กระทำความผิดวินัย ให้ประธานป.ป.ช.ส่งรายงาน เอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจ แต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิด ที่ป.ป.ช.ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก และในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือรายงาน เอกสาร และความเห็นของป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ แล้วแต่กรณี

อีกทั้งมาตรา 93 ของพ.ร.บ.เดียวกันก็ยังบัญญัติ ว่า เมื่อได้รับรายงาน ตามมาตรา 92 วรรค 1 แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง พร้อมส่งสำเนาคำสั่งลงโทษแจ้งกลับไปยังป.ป.ช.ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ออกคำสั่ง หากผู้บังคับบัญชาละเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ดังนั้นการชี้มูลของป.ป.ช.ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทกระทำผิด วินัยร้ายแรงฯถ้าจะมีผลทางกฎหมายก็คงมีเฉพาะในความสัมพันธ์ภายในระหว่าง ป.ป.ช.กับผู้บังคับบัญชาของพล.ต.อ.พัชรวาท ที่เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษพล.ต.อ.พัชรวาทเท่านั้น ไม่มีผลทางกฎหมายออกสู่ภายนอก ไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่ของพล.ต.อ.พัชรวาท หรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย โดยตรงแก่พล.ต.อ.พัชรวาทแต่อย่างใด จึงถือว่าพล.ต.อ.พัชรวาทไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนมติของป.ป.ช.ในกรณีนี้ได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นผลให้ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยคำขอกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
กำลังโหลดความคิดเห็น