คกก.พัฒนาเด็กปฐมวัย เห็นชอบจัดทำมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งชาติ กำหนดกรอบมาตรฐาน 5 ด้าน 10 มาตรฐานย่อย 32 ตัวบ่งชี้ พร้อมนำร่องก่อนบังคับใช้ทั่วประเทศ เล็งประสาน ก.แรงงาน พิจารณาลดหย่อนภาษีให้กับการลงทุนด้านศูนย์เด็กเล็ก ฝาก ก.อุตฯ พิจารณาการในการจัดตั้งนิคมอุตสหกรรมต้องมีศูนย์เด็กเล็กด้วยได้หรือไม่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (กดชย.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการจัดทำมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย โดยประกอบด้วยมาตรฐาน 5 ด้าน 10 มาตรฐานย่อย และ 32 ตัวบ่งชี้ ดังนี้ 1.มาตรฐานด้านการบริหารจัดการ อาทิ กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ โดยมีผู้แทนจากชุมชนเข้ามาเป็นกรรมการร่วม และมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง มีแผนการพัฒนาศูนย์ เป็นต้น
2.มาตรฐานด้านบุคลากร อาทิ หัวหน้าศูนย์มีวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาวิชาเอกอนุบาลศึกษา หรือปฐมวัย มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ผู้ดูแลเด็กมีวุฒิไม่น้อยกว่า ม.3 และต้องได้รับการอบรมทุก 2 ปี เป็นต้น 3.มาตรฐานด้านสถานที่พัฒนาเด็กปฐมวัย จัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอาคารให้มีความสะอาดปลอดภัย มีมุมการเรียนรู้สำหรับผู้ปกครอง และมีการตรวจสุขภาพทั่วไปของเด็กทุกคนทุกวัน เป็นต้น 4.มาตรฐานด้านคุณภาพเด็กปฐมวัย อาทิ เด็กมีภาวะโภชนาการปกติ ได้รับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้น และ 5.มาตรฐานด้านสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วม อาทิ มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนระหว่างพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็ก และเจ้าหน้าที่ อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง จัดศูนย์เด็กเล็กให้เป็นแหล่งความรู้และบริการชุมชนในเรื่องการพัฒนาเด็ก เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า จะมีการนำมาตรฐานและตัวบ่งชี้ดังกล่าว ไปทดลองนำร่อง และนำผลกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่า มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะนำไปใช้บังคับและประเมินศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีศูนย์เด็กเล็ก ประมาณ 20,000 แห่ง มีเด็กที่อยู่ในความรับผิดชอบ ประมาณ 860,000 คน และมีผู้ดูแลประมาณ 47,000 คน โดยศูนย์ส่วนใหญ่ จะอยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นอกจากการดูแลคุณภาพศูนย์เด็กเล็กของรัฐแล้ว รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้สถานประกอบการ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม ได้จัดทำศูนย์เด็กเล็กเพิ่มขึ้นโดย ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณาในเรื่องการลดหย่อนภาษี ให้นำการลงทุนด้านศูนย์เด็กเล็กมาแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่าที่เป็นอยู่
พร้อมกันนี้ ยังได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาว่า ในอนาคตจะกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จะต้องให้จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กด้วยได้หรือไม่ ทั้งนี้ การจัดทำกรอบมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดังกล่าว ถือเป็นการทำมาตรฐานคุณวุฒิระดับปฐมวัย หรือ TQF ที่จะสอดรับกันทั้งระบบตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษาด้วย