xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอตั้งแง่พรีม่าจัดสัมมนาต้านยาปลอม สกัดยาสามัญ วอนคุณหญิงหมออย่าหลงเป็นเหยื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอ็นจีโอ ตีกัน “พรีม่า” จัดสัมมนาต้านยาปลอมแอบแฝงพยายามขยายนิยามยาปลอมให้รวมถึงยาสามัญที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เตะตัดขายาสามัญที่จะกำลังโต เป่าหูชาวโลกยาสามัญไม่มีคุณภาพ ด้านองค์กรหมอไร้พรมแดน แฉอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น อยู่เบื้องหลัง พร้อมแฉเล่ห์ดึง ก.พาณิชย์ กรมศุลกากร เป็นพวก หวังสกัดยาสามัญ ฝากคุณหญิงหมอพรทิพย์ ระวังตกเป็นเครื่องมือ ผลักดันสำเร็จไทยแย่แน่

วันที่ 28 ตุลาคม นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามให้ยาสามัญที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนไปอยู่ในคำจำกัดความของคำว่ายาปลอม ซึ่งเป็นแผนความคิดของบริษัทยาข้ามชาติที่พยายามขยายคำนิยามของยาปลอมให้มีมากกว่าเรื่องของคุณภาพยา เช่น ยาที่ไม่มีการใส่ตัวยา ยาที่หมดอายุ ฯลฯ แต่ให้นิยามถึงยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ยาสามัญจากประเทศที่ไม่มีกฎหมายสิทธิบัตร อย่าง อินเดีย บราซิล เข้าข่ายว่าเป็นยาปลอมด้วย ทั้งๆ ที่ยาเหล่าอาจเป็นแค่ยาสามัญที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพและคุณภาพเท่าเทียมกับยาต้นแบบ แต่แผนการของบริษัทยาข้ามชาติพยายามทำให้เกิดความสับสน

“เหตุผลที่สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) จัดงานสัมมนาต่อต้านยาปลอมในวันที่ 30 ต.ค.ที่อิมแพค เมืองทองธานี วัตถุประสงค์ คือ ต้องการขยายนิยามคำว่ายาปลอม และสร้างการตื่นกลัวในเรื่องยาปลอมให้รวมเรื่องยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปด้วย ซึ่งผลที่ตามมาคือการผลักดันให้ฝ่ายนโยบายมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนจุดยืนในไทยต่อเวทีโลกในเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยเป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญในสมัชชาองค์การอนามัยโลกที่คัดค้านแนวคิดของบริษัทยาที่พยายามแทรกแซงให้เกิดการขยายนิยามของยาปลอมให้ครอบคลุมนอกเหนือไปจากคุณภาพยา แต่รวมไปถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย” นายนิมิตร์ กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานโครงการร่วมระหว่างฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น องค์กรหมอไร้พรมแดน กล่าวว่า ความพยายามในการขยายคำนิยามของคำว่ายาปลอมให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องยาสามัญที่ผลิตจากประเทศที่ไม่มีกฎหมายสิทธิบัตรยา เท่ากับว่าเป็นการตัดขาการเข้าถึงยาสามัญ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นนับว่าเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมยาต้นแบบของโลกได้พยายามผลักดันนโยบายดังกล่าวทั่วโลก และหากเปลี่ยนแปลงจุดยืนของไทยได้ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงจุดยืนระดับโลกที่ไทยเป็นตัวแกนนำสำคัญในการคัดค้านเรื่องดังกล่าวได้ผล จึงไม่แปลกที่ญี่ปุ่นได้สนับสนุนในการร่วมการจัดงานสัมมนาของพรีม่าครั้งนี้

อยากฝากถึงพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มาร่วมบรรยาย ว่า ทราบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าคงไม่ทราบ แต่อยากเตือนว่า อาจจะตกเป็นเครื่องมือในการขยายนิยามยาปลอมของบริษัทยาครั้งนี้” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีประเทศที่ได้ลงนามในข้อตกว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง (เอซีทีเอ) ซึ่งในข้อตกลงดังกล่าวในมาตรา 28 ระบุเพิ่มอำนาจให้ศุลกากรในการยึดของต้องสงสัยว่าเป็นสินค้าปลอมแปลง รวมถึงยาปลอมที่คิดว่าเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็สามารถยึดได้หากเพียงแค่สงสัย ขณะนี้มีประเทศเคนยาและอูกันดาที่มีการทำข้อตกลงดังกล่าวแล้วเช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรป

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา อินเดียจะส่งยาสามัญที่ผลิตได้ไปให้กับบราซิล แต่ต้องไปผ่านท่าเรือที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีกฎหมายสิทธิบัตร ทำให้ถูกอายัดยาดังกล่าวไว้ ขณะนี้เป็นเวลาปีกว่าแล้ว ซึ่งยาเหล่านั้นไม่ใช่ยาปลอม แต่เป็นยาสามัญที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมายจากประเทศต้นทางและปลายทาง ซึ่งเกิดปัญหาร้องเรียนกันขึ้น ซึ่งยาเหล่านี้ไม่เฉพาะประเทศผู้ผลิตยาสามัญเท่านั้น แม้แต่ยาที่องค์การสหประชาชาติสั่งซื้อแต่ผ่านประเทศที่มีกฎหมายสิทธิบัตรก็เกิดปัญหาดังกล่าวด้วย เพราะอำนาจศุลกากรสามารถยึดสินค้าที่แค่สงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ทันที ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนยืนยันว่าสนับสนุนให้ภาครัฐดำเนินการจัดการกับยาที่ผิดมาตรฐานตาม พ.ร.บ.ยา แต่ไม่สนับสนุนให้ขยายความหมายของยาปลอมไปรวมถึงเรื่องยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการแก้และขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดทำแผนเร่งรัดป้องกันดำเนินการสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยในข้อ 1.5 เร่งรัดให้แก้ไขกฎหมายศุลกากรในการอายัดสินค้า ณ จุดนำเข้าหรือออก ถือว่าเป็นการดำเนินการก่อนที่จะมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศใดๆ รวมถึงเตรียมกฎหมายก่อนมีการดำเนินการเอฟทีเอสหภาพยุโรปด้วย

“ทางภาคองค์กรเอกชนได้ร้องเรียนเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) พยายามดำเนินการทุกอย่าสงเตรียมกับการเจรจาเอฟทีเอทุกประเทศก่อนที่จะมีการตกลงจริง โดยร้องผ่านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเรียกประชุมระหว่างฝ่ายภาคประชาชนกับ รมว.พาณิชย์ ตามคำสั่งของนายกฯเลย ซึ่งก็หวังว่าจะสร้างความเข้าใจกับฝ่ายนโยบายในเรื่องนี้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของบริษัทยาข้ามชาติ แต่หากไม่ได้ผลก็จะต้องร้องเรียนต่อผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งสหประชาชาติจะให้คำแนะนำในเรื่องดังกล่าวกลับมายังรัฐบาล” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น