อภ.รอประเมินค่าเสียหายโรงงานต้นเหตุ เจอลวดปนยาพาราฯ เผยปัจจุบัน อภ.จ้างผลิต 2 โรงงาน เดือนละล้านกว่าเม็ด ส่วนแบ่งตลาด 10% พบคนไทย กินยาพาราฯ ปีละ 100 กว่าล้านเม็ด เตือนกินเกินขนาดตับวายเฉียบพลันได้ ขณะที่ อย.ชี้โรงงานได้จีเอ็มพี แนะปรับปรุงการผลิตโรงงานติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะเพิ่มอีก 1 เครื่องในช่วงร่อนผงยา แนะใช้แผ่นเหล็กมีรูแทนตะแกรงลวด
วันที่ 27 ตุลาคม นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีพบเส้นลวดในยาพาราเซตามอล ซึ่งผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ จ.แพร่ ว่าความผิดพลาดในกระบวนการผลิตยาสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่โรงงานควรที่จะมีคือกระบวนการตรวจสอบที่ดีได้มาตรฐาน โดยความผิดพลาดที่มักพบบ่อยๆ เช่น เม็ดยาแตก เม็ดยาดำ กร่อน เมื่อพบจะมีการคัดแยกออกจากสายการผลิตทันที และยังมีเครื่องตรวจโลหะด้วย ส่วนกรณีที่พบกระบวนการผลิตยาพาราฯ มีปัญหานั้น ต้องหาสาเหตุและปรับปรุงต่อไป โดยขณะนี้ยังไม่ได้หารือเรื่องค่าเสียหายกับบริษัทผู้ผลิตยาซึ่งจะต้องรอการประเมินและตรวจสอบโรงงานก่อน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคิดว่ามีค่าเสียหายเกิดขึ้นแน่นอนเพราะต้องหยุดกระบวนการผลิตลง
นพ.วิทิต กล่าวว่า ปัจจุบัน อภ.ได้ส่งมอบให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ผลิตยาทั่วไปที่ประชาชนใช้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากกำลังการผลิตของ อภ.เองไม่เพียงพอ เช่น กลุ่มยาแก้ปวด ยาแก้หวัด แก้วิงเวียนศีรษะ สำหรับยาพาราฯ มีบริษัทที่รับทำการผลิตอยู่ 2 บริษัท คือ บริษัท โอสถอินเตอร์ แลบอลาตอรี่ จำกัด ซึ่งผลิตแบบแผง และโรงงานเภสัชกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กทม.ประเทศไทย ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะผลิตแบบกระป๋อง โดยมีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 1.4 ล้านเม็ด ปีละประมาณ 20-30 ล้านเม็ด ทั้งนี้ อภ.มีส่วนแบ่งการตลาดของยาประเภทดังกล่าวอยู่เพียงร้อยละ 10 ของจำนวนยาทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งตลาดโดยรวมทั้งประเทศอาจมีการผลิตอยู่ที่ปีละประมาณกว่า 100 ล้านเม็ด
“คนไทยมักใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อทำให้มีการใช้ยาแก้ปวดจำนวนมาก ทั้งที่ไม่จำเป็นเพราะคิดว่าเป็นยาที่ปลอดภัยความจริงแล้วยาประเภทดังกล่าวหากรับประทานมากเกินกว่าที่กำหนด เช่น รับประทาน 6 เม็ด/ครั้ง อาจทำให้ตับวายได้ และหากเกิดขึ้นจะรักษาได้ยากมาก อาการที่พบเบื้องต้นคือ ตัวเหลือง ซึม อาการเข้าข่ายโคม่า จนถึงเสียชีวิต ซึ่งหากหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรรับประทาน เช่น ปวดเมื่อยเนื้อตัวจากการทำงาน หรือไข้ต่ำๆ เพราะสามารถใช้วิธีอื่นเช่นพักผ่อน ดื่มน้ำเยอะก็สามารถหายเป็นปกติได้”นพ.วิทิต กล่าว
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบเรื่องมาตรฐานการผลิตที่ดี (จีเอ็มพี) ของโรงงานดังกล่าวไม่มีปัญหา เพียงแต่อย.ได้แนะนำให้ทางโรงงานได้ติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะเพิ่มอีก 1 เครื่องบริเวณชั้นที่ร่อนผงยา เพื่อให้การปฏิบัติการตรวจจับโลหะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนอื่นไม่มีปัญหาอะไร และโรงงานอื่นๆ ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ว่าจ้างให้ผลิตยาก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน
“อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าหากเป็นไปได้ควรจะนำแผ่นเหล็กซึ่งมีลักษณะเป็นรูมาแทนตะแกรงลวดที่อาจทำให้เส้นลวดหลุดออกมาได้ หากพิจารณาด้วยสายตา ลักษณะของลวดมีความคล้ายคลึงกับลวดของตะแกรงแร่งยา แต่ในรายละเอียดว่าเส้นลวดดังกล่าวจะหลุดมาจากแร่งยาหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของ อภ.ในการตรวจสอบหาสาเหตุ” นพ.พิพัฒน์ กล่าว