“วิทยา” บุกตรวจโรงงานผลิตยา “พาราเซตามอล” สั่งระงับผลิต ให้ อย.ตรวจสอบยา 1.2 ล้านเม็ด พร้อมตรวจกระบวนการผลิต เครื่องมืออุปกรณ์ จนกว่าจะมีสภาพพร้อมใช้งาน คาดลวดแปลกปลอมมาจาก “แร่ง” กรองเนื้อยาก่อนผสมตอกเม็ด เครื่องตรวจจับโลหะตั้งทำงานเร็วไป ยาล้นเลยตรวจไม่เจอ ชี้ อภ.ต้องรับผิดชอบความเสียหายต่อผู้บริโภค ส่วนจะฟ้องโรงงานผลิตฐาน ฐานทำเสียชื่อหรือไม่ต้องพิจารณา
วันที่ 26 ตุลาคม นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เดินทางไปยัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อตรวจสอบบริษัท โอสถอินเตอร์ แลบอลาตอรี่ จำกัด อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาดังกล่าวให้กับ อภ.เพื่อตรวจสอบกรณีพบเส้นลวดในยาพาราเซตามอลของ อภ.ที่ จ.แพร่ ว่า อภ.ได้จ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ผลิต ขณะนี้ได้สั่งระงับการผลิตทั้งหมดแล้ว ซึ่งยาล็อตดังกล่าวเป็นยาที่ผลิตในเดือน ก.ค.พร้อมได้ตรวจสอบยาล็อตเดียวกันทั้งประเทศให้ยุติการจำหน่าย และได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปตรวจสอบโรงงานที่รับจ้างผลิตจากองค์การเภสัชกรรม เพราะโรงงานที่รับจ้างผลิตเป็นโรงงานที่ได้รับมาตรฐานคุณภาพ หากมาตรฐานคุณภาพไม่สามารถเป็นไปตามที่รับรองไว้ อย.ก็จำเป็นต้องเพิกถอนใบอนุญาต และจะให้ อภ.ไปรับผิดชอบผู้ป่วยทั้งหมด ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น
“อย.จะต้องเข้าไปตรวจสอบโรงงานที่ได้รับอนุญาตถี่ขึ้น และขอให้ อภ.ตรวจมาตรฐานของสินค้าก่อนที่จะออกจำหน่ายให้ประชาชน สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ขอให้ อภ.ในฐานะผู้จำหน่ายและผู้ผลิต รับผิดชอบอย่างเต็มที่และยาที่ผลิตจากโรงงานดังกล่าวต้องเรียกกลับคืนทั้งหมด ทั้งนี้ ล็อตการผลิตเดียวกันที่พบปัญหานี้ มีทั้งสิ้น 4 ล็อต ล็อตละ 3 แสนเม็ด รวม 1.2 ล้านเม็ด โดยได้สั่งการให้ทั่วประเทศมีการเก็บยาล็อตดังกล่าวออกจากชั้นวางยาทั่วประเทศแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.แล้ว เนื่องจากเป็นยาที่ด้อยคุณภาพ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพประชาชน”นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวต่อว่า จากกข้อสันนิษฐานมีความเป็นไปได้ว่า เล้นลวดที่อยู่ในยาพาราเซตามอลเป็นวัสดุที่มาจากแร่งยา ที่มีลักษณะคล้ายกับตะแกรงกรองเนื้อยาก่อนนำมาผสมและตอกอัดเป็นเม็ด ซึ่งกระบวรการต่อจากนี้จะมีเครื่องจับโลหะ เพื่อแยกเม็ดยาที่มีโลหะ หรือสิ่งแปลกปลอมออก แต่สาเหตุที่ยาดังกล่าวไม่ถูกคัดออก อาจเนื่องจากมีการตั้งเครื่องที่เร็วเกินไป จึงทำให้ยาล้น เครื่องไม่สามารถคัดยาดังกล่าวออกได้ทัน
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้ อย.ตรวจสอบรายละเอียด ว่า ลวดที่พบในเม็ดยาเป็นแร่งยาตามที่สันนิษฐานหรือไม่ โดยให้ส่งหลักฐานตรวจพิสูจน์ให้ชัดเจน โดยคาดว่าจะทราบผลภายใน 2-3 วันนี้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น อภ.ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคก่อน เพราะเป็นหน่วยงานราชการ และเป็นหน่วยงานที่ซื้อยาจากบริษัทดังกล่าวมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง ส่วน อภ.ที่ได้รับความเสียหายชื่อเสียง จะเรียกร้องกับบริษัทนี้หรือไม่ต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ อย.ตรวจสอบเรื่องคุณภาพการผลิต พร้อมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ให้มีสภาพที่ดีมีความพร้อม และให้ระงับการผลิตไปก่อนจนกว่าแก้ไขปรับปรุง
ภก.วินิต อัศวกิจวีรี ผู้อำนวยการกองควบคุมยา อย.กล่าวว่า ได้รับทราบจากรายงานของบริษัทผู้ผลิต ว่า มีรายงานว่าพบวัสดุจากแร่งตะแกรงยาเข้ามาบ้างแต่ไม่พบบ่อย ซึ่งข้อผิดพลาดดังกล่าวอาจเนื่องมาจากอุปกรณ์ในการผลิตยา อย่างแร่งที่เดิมอาจออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานได้อายุยาวผลิตยาได้ถึง 3 ล็อต แต่เมื่อใช้เป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เครื่องมือประสิทธิภาพการทำงานลดลงเกิดการผุกร่อน ทำให้มีชิ้นส่วนหลุดรอดปลอมปนมาได้ประกอบกับเครื่องตรวจโลหะอาจมีประสิทธิภาพในการตรวจจับความไวได้น้อย ซึ่งการกำหนดมาตรฐานการผลิตต่อไปอาจต้องมีการนำยาทุกรุ่นมาตรวจสอบมาตรฐานให้เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้น
ด้านนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ยืนยันว่า ยาทุกแห่งที่อภ.จ้างให้ผลิตทุกแห่งเป็นยาที่ผลิตได้มาตรฐานการผลิตที่ดี (จีเอ็มพี) จาก อย.แต่ในส่วนของยาพาราเซตามอลนั้น การจะสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพยาของ อภ.ให้กลับคืนมาจะต้องมีการเก็บยาทั้งหมดมาตรวจสอบ และหลังจากที่ อย.ไปตรวจสอบมาตรฐานทั้งหมดแล้ว จะส่งเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้ามาร่วมตรวจสอบกับบริษัทผู้ผลิตด้วย ซึ่งเป็นการร่วมมือในการทำงาน ไม่ใช่การจับผิด ทั้งนี้ จากการที่ได้รับทราบข้อมูลอาจต้องมีการปรับความเร็วของเครื่องให้มีความพอเหมาะกับความสามารถในการตรวจจับโลหะ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ส่วนประเด็นเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิต จะต้องรอเก็บยาพาราเซตามอลล็อตดังกล่าวทั้งหมดออกจากท้องตลาด ว่า ได้เก็บคืนจำนวนเท่าใด รวมถึงชื่อเสียงของ อภ.จึงจะคำนวณความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ อภ.ได้จ้างบริษัทดังกล่าวผลิตมาแล้ว 3 ปีแล้ว ซึ่งในอนาคตจะย้ายฐานการผลิตจากบริษัทดังกล่าวไปยังโรงงานของ อภ.ที่กำลังสร้างอยู่ที่ จ.ปทุมธานี”นพ.วิทิต กล่าว