xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชัดสิงห์อมควันแห่ดูดบุหรี่มวนเอง สยองไม่รู้พิษภัย “ยาเส้น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลวิจัยล่าสุดยัน บุหรี่มวนเองกลับมาระบาด สิงห์อมควันแห่ดูด 27% ต่อเดือน เหตุราคาถูก รสชาติใกล้เคียงบุหรี่ซอง น่าตกใจนักสูบไม่รู้ถึงพิษภัยยาเส้น กระดาษเคลือบสีสุดอันตรายก่อมะเร็งช่องปาก ข่าวดี ก.วิทย์ ต่อยอด ผลิตลูกอมดอกหญ้าขาวเลิกบุหรี่ คาด 2 ปีได้ใช้ ขณะที่ ศจย.-สสส.ไวลุย 4 ภาคทั่วไทย เฟ้นหานักวิจัยหน้าใหม่ตอบโจทย์การควบคุมยาสูบ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องเส้นทางยาเส้น กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ของพื้นที่ ภาคอีสาน และภาคเหนือ เช่น ร้อยเอ็ด เชียงราย เพชรบูรณ์ หนองคาย ของผู้สูบบุหรี่และผู้ค้าทั้งแบบซองและแบบมวนเอง โดยแยกเป็นเกษตรกรจำนวน 400 ราย กลุ่มโรงงานทั้งหมด 61 โรงงาน ร้านค้าในชุมชนจำนวน 200 ร้านค้า และผู้สูบบุหรี่มวนเองจำนวน 400 ราย โดยเริ่มทำการสำรวจตั้งแต่ เดือน พ.ย.2551 ถึงปัจจุบัน พบว่า หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มภาษีบุหรี่แบบซองเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ ทำให้บุหรี่แบบซองมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้การสูบบุหรี่ลดลง แต่มีนักสูบบางส่วนที่เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาสูบบุหรี่แบบมวนเองมากขึ้นเนื่องจากมีราคาถูก

รศ.ดร.บัวพันธ์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจพบว่า อัตราการสูบบุหรี่แบบมวนเองของนักสูบเพิ่มสูงขึ้น ต่อเดือนจะมีจำนวนผู้สูบบุหรี่แบบมวนเองสูงถึงร้อยละ 27.6 ขณะที่จำนวนผู้สูบบุหรี่แบบซองอยู่ที่ร้อยละ 9 หากเปรียบเทียบการสูบต่อวัน มีจำนวนผู้สูบบุหรี่แบบมวนเองร้อยละ 16.30 บุหรี่แบบซองร้อยละ 4.83 ซึ่งนักสูบต้องเสียค่าใช่จ่ายในการซื้อบุหรี่ต่อสัปดาห์เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด แบ่งเป็นบุหรี่แบบมวนเอง ร้อยละ 16.89 ส่วนบุหรี่แบบซอง ร้อยละ 35 สะท้อนว่าบุหรี่แบบมวนเองเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมของนักสูบอีกครั้ง เพราะมีราคาถูกเมื่อเทียบกับบุหรี่แบบซอง อีกทั้งปัจจุบันผู้ผลิตมีการปรับปรุงรสชาติยาเส้นให้มีความใกล้เคียงกับบุหรี่แบบซองให้สามารถทดแทนกันได้ ส่งผลให้ร้านขายของชำในหมู่บ้านจำหน่ายบุหรี่แบบมวนเองแทบทุกร้าน

ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า บุหรี่มวนเองเป็นเพียง 1 ในเป็นปัญหาของการบริโภคยาสูบที่ยังขยายตัว งานวิจัยชี้ชัดว่านักสูบส่วนใหญ่เข้าใจผิด ว่าบุหรี่มวนเองมีพิษภัยน้อยกว่าบุหรี่ซอง ทั้งที่ความจริง ทำให้เกิดมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ได้เช่นกัน ส่วนกระดาษที่ใช้มวนหากเป็นกระดาษที่มีสีสัน อาจมีสารเคมีเคลือบปน เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปาก ซึ่งการสนับสนุนให้มีนักวิจัยมาศึกษาปัญหาบุหรี่ จะทำให้ได้ข้อเท็จจริง รู้เท่าทันสภาพปัญหา ศจย. จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเครือข่ายนักวิจัยด้านบุหรี่ 4 ภาคทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งเก็บข้อมูลในพื้นที่ของตัวเอง นำมาศึกษาเป็นงานวิจัยร่วมกับนักวิชาการด้านสุขภาพ

ดร.ศิริวรรณ กล่าวอีกว่า นักวิจัยไม่ได้หมายถึงผู้ที่เป็นหมอ หรือบุคลากรสาธาณสุขเท่านั้น แต่อยากให้ทุกคนในพื้นที่ร่วมศึกษาปัญหาด้านบุหรี่ด้วยกัน โดยจะมีนักวิชาการรวมอยู่ในทีมคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาอภิปรายโจทย์พัฒนาไปเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพร่วมกัน โดยจะให้อิสระเปิดกว้างสามารถนำเสนอหัวข้อการวิจัยโดยไม่มีขีดกจัด เชื่อว่าจะมีนักวิจัยท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น โดยจะนำร่องในภาคอีสานที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จ.ขอนแก่น วันที่ 27-29 ต.ค. นี้ นอกจากนี้ มีตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ การสำรวจการใช้บารากู่ของกลุ่มวัยรุ่น การนำระบบจีไอเอสมาประยุคใช้เพื่อตรวจสอบหาแหล่งจำหน่วยการขายบุหรี่เถื่อน อีกทั้งยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจคือ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าสมุนไพรหญ้าดอกขาว ช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ได้ สอดคล้องกับผลวิจัยสถาบันธัญลักษณ์ ศจย.จึงร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ นำผลการศึกษาไปต่อยอด นำสมุนไพรหญ้าดอกขาวไปสกัดเป็นสารเลิกบุหรี่ในรูปแบบของลูกอม คาดว่าจะผลิตออกมาให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ได้ใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น