“มล.วัลย์วิภา” ปรี๊ด! หลัง “วศิน ธีรเวชญาณ” ประธานJBCไทย ออกมาโต้กรณีแผนที่ฉบับ Annex1 สัดส่วน1ต่อ2แสนของปราสาทพระวิหาร อ้างแผนแม่บท TOR46 บรรจุเข้าไปเพราะศาลโลกตัดสินให้ไทยมีผลผูกพันและยอมรับแผนที่อัปยศฉบับนี้ พล่อยไทยเป็นฝ่ายขอให้ฝรั่งเศสทำแผนที่ให้ โดย “ม.ล.วัลย์วิภา” โต้ทั้งสองประเด็น พร้อมอัดยับคนพูดหวังแยกราชอาณาจักร สมควรถูกพิจารณา
วันนี้ (14 ต.ค.) ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ได้สัมภาษณ์กรณีที่เมื่อวันที่ 12 ต.ค.นายวศิน ธีรเวชญาณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านกฎหมายและเขตแดน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ออกมาให้ข่าวด้วยตัวเองหลังการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยอ้างแผนแม่บทที่ทำไว้ เมื่อปี 2546 (TOR46) เรื่องการใช้แผนที่ 1: 200000 หรือที่รู้จักกันในนามของแผนที่ฉบับ Annex1 ซึ่งถูกจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศส โดยก่อนหน้านี้ม.ล.วัลย์วิภาก็ได้ให้ข้อมูลแก่สังคมมาโดยตลอดว่า หากไทยรับเอาแผนที่ฉบับดังกล่าวมาใช้จริง จะต้องเสียแผ่นดินให้แก่เขมรจำนวนมหาศาล ซึ่งนายวศินได้ออกมาโต้สองประเด็นคือ
ประเด็นแรกที่นายวศินกล่าวก็คือ ประเด็นแผนแม่บท TOR46 ที่รับแผนที่ฉบับดังกล่าว เพราะจากคำตัดสินของศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งนายวศินอ้างว่าศาลโลกได้ตัดสินให้ไทยมีผลผูกพันกับแผนที่ฉบับนี้ และประเด็นที่สองคือสยามไปขอให้ฝรั่งเศสทำแผนที่ให้
“อันนี้ของจริง เป็นเบื้องหลังจริงๆ เพราะคุณวศินเป็นทั้งประธานJBCไทย และเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านกฎหมาย แล้วจู่ๆ มาบอกว่าที่รับแผนที่1ต่อ2แสนเพราะศาลโลกตัดสินให้ไทยยอมรับและผูกพันกับแผนที่ฉบับนี้ และอ้างว่าเป็นเพราะไทยเป็นฝ่ายขอร้องให้ฝรั่งเศสเป็นผู้ทำแผนที่ให้ โอ้โห...พูดแบบนี้ได้อย่างไร มันผิดหมดเลย”
ม.ล.วัลย์วิภากล่าวต่อว่า จากคำตัดสินของศาลโลกปีพ.ศ.2505 ศาลโลกไม่เคยมีคำตัดสินให้ไทยยอมรับหรือใช้แผนที่ฉบับดังกล่าว ส่วนในประเด็นที่ไทยขอให้ฝรั่งเศสทำแผนที่ให้นั้นก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เนื่องจากแผนที่ฉบับดังกล่าวเกิดจากคณะกรรมการปักปันผสมไทย-ฝรั่งเศส ที่ไม่ได้มีหน้าที่ทำแผนที่ แต่มีหน้าที่ปักปันเขตแดนอย่างเดียว และถูกทำขึ้นหลังจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวถูกยุบไปด้วยซ้ำ เพราะคณะกรรมการปักปันผสมถูกยุบในปีค.ศ.1907 แต่แผนที่ถูกทำขึ้นในปี ค.ศ.1908
“การที่เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นข้าราชการระดับสูงขนาดนี้ออกมาพูดเช่นนี้ เป็นคำพูดที่หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หวังให้เกิดการแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นการกระทำที่สมควรถูกพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง” ม.ล.วัลย์วิภากล่าว