xs
xsm
sm
md
lg

ชัด!! ล็อกสเปก 3 คุรุภัณฑ์ สธ.เอื้อเอกชน เครื่องดมยา-ตรวจหัวใจ-ตรวจสารชีวเคมีในเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
แฉงบไทยเข้มแข็ง สธ. มือมืดวิ่งเต้นล็อกสเปกเครื่องดมยาสลบ-เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอื้อบริษัทชัดเจน เดือดร้อนผู้บริหารชุดใหม่วิ่งปลดล็อกวุ่น ระบุอดีต “บิ๊ก สธ.” มีเอี่ยว ด้านแพทย์ชนบทฟันธงซื้อเครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือดก็มีปัญหา

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงบประมาณแจ้งว่า สำนักงบประมาณได้ขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตรวจสอบ ได้แก่ การเสนอจัดซื้อเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพแบบรวมศูนย์ โดยมีการกำหนดคุณลักษณะไว้ 2 รายการ คือ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพแบบรวมศูนย์ ระบุว่า พร้อมเชื่อมต่อระบบ ICU เดิมที่มีอยู่ กับอีกรายการหนึ่งคือ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพแบบรวมศูนย์แต่เพิ่มสเปกให้มีชนิดชุดวัดถอดแยกและมีจอแสดงรูปคลื่นขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย


นอกจากนี้ยังมีครุภัณฑ์อีก 2 รายการที่น่าสังเกต คือ เครื่องดมยาสลบพร้อมเครื่องช่วยหายใจชนิด 3 gas vaaorizor พร้อมอุปกรณ์เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและเครื่องวิเคราะห์แก๊สระหว่างดมยาสลบครบชุด พร้อมระบบ Electronic Charting ซึ่งโดยปกติระบบElectronic Charting จะใช้สำหรับการดมยาในการผ่าตัดใหญ่ หรือผ่าตัดเฉพาะ ที่เชื่อว่ารพ.ชุมชนไม่น่าจะมีวิสัญญีแพทย์ที่สามารถใช้เครื่องดังกล่าวได้ ส่วนครุภัณฑ์อีกประเภทที่มีการล็อกสเปก คือ เครื่องช่วยหายใจ ที่มีการระบุว่าให้มีระบบวัดความจุของปอด หรือ Vital capacity ไว้ด้วย ซึ่งหากมีการระบุในลักษณะดังกล่าวจะทำให้มีบริษัทที่สามารถเข้าประมูลได้เพียงบริษัทเดียวทันที

จับตาเครื่องตรวจชีวเคมีในเลือด

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ครุภัณฑ์ที่ต้องจับตาเพิ่มเติมคือ เครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด ระบุราคาเบื้องต้น 3 ล้านบาท ขณะที่โรงพยาบาลศิริราชสามารถจัดซื้อได้ในราคาเพียง 2.4 ล้านบาท อีกทั้งหากซื้อน้ำยาก็จะนำเครื่องมาลงให้ฟรี ดังนั้น จึงเป็นการสูญเปล่าหากรัฐต้องซื้อเครื่องดังกล่าวอีก ทั้งที่ไม่ได้มีการร้องขอแต่อย่างใด

“ชัดเจนว่า เครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด เป็นการล็อกสเปกให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งส่วนกลางได้สั่งไว้ว่าหากไม่ทำตามอาจจะต้องถูกโยกย้าย”นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ เครื่องดมยาที่ราคาเพียง 1.2 ล้านบาท ก็ตั้งงบไว้ 1.5 ล้านบาท ขณะที่เครื่องช่วยหายใจที่โรงพยาบาลต้องการใช้สำหรับเด็ก-ผู้ใหญ่ ราคา 7.5 แสนบาท 6 เครื่อง ก็ยัดเหยียดเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตร ความดันเวลา ราคา 1.5 ล้านบาท ทั้งที่จริงราคาเพียง 1.2 ล้านบาท แต่ซื้อได้เพียง 3 เครื่อง ซึ่งในความเป็นจริงมีการแยกชัดเจนระหว่างห้องผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ จึงไม่ตรงกับความต้องการของโรงพยาบาล อีกทั้งยังมีราคาสูงเกินจริงอีกด้วย

เผยผู้บริหาร สธ.วิ่งปลดล็อกวุ่น

แหล่งข่าวจาก สธ.กล่าวว่า คณะผู้บริหารชุดใหม่ของสธ.ได้พยายามที่จะปลดล็อกสเปกดังกล่าว โดยขอความเห็นไปยังผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง ซึ่งก็ได้รับการท้วงติงว่าหลายอย่างไม่ควรจะระบุรายละเอียดเพราะจะเป็นการล็อกสเปก เช่น เครื่องช่วยหายใจที่ระบุว่าให้มีระบบวัดความจุของปอด หรือ Vital capacity หรือเครื่องดมยาสลบที่การระบุให้มีระบบ Electronic Charting ที่อาจจะเป็นการทำให้เป็นการซื้อของโดยที่ไม่สามารถใช้ได้จริง

ทั้งนี้ เรื่องทั้งหมดได้แจ้งให้นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.ทราบแล้ว แต่เนื่องจากมีข่าวเรื่องของเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบอัลตราไวโอเล็ตหรือยูวีแฟนและเครื่องช่วยหายใจเสียก่อน จึงยังไม่มีการพูดถึงครุภัณฑ์อีก 2 รายการที่คาดว่าน่าจะมีการล็อกสเปกดังกล่าว

“หมอสมยศ”รับผู้ใหญ่สั่งยกเลิกสเปก

นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษ แต่ขณะนี้สบส. ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจแล้ว เนื่องจากสำนักปลัด สธ. ได้แจ้งให้ยกเลิกให้สบส. ดูแลโครงการนี้แล้ว จากเดิมสบส. มีหน้าที่กำหนดคุณสมบัติของเครื่องช่วยหายใจ (ทีโออาร์) ทั้ง 3 ประเภทคือ เครื่องช่วยหายใจของผู้ใหญ่ของเด็ก และประเภทเคลื่อนที่ติดตั้งในรถฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมาสบส. ได้ตั้งคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจที่เป็นอาจารย์แพทย์จากโรงพยาบาลรัฐ และโรงเรียนแพทย์ต่างๆ จำนวน 7 คน และนักวิชาการ สธ. อีก 3 คน ร่วมเป็นกรรมการ

“การทำหนดที่โออาร์ที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขไปแล้ว 1 รอบ เนื่องจากมีบริษัทเอกชนร้องเรียนว่าเข้าข่ายล็อกสเปก คณะกรรมการฯ จึงได้สั่งแก้ไขและเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยสเปกเครื่องช่วยหายใจทั้ง 3 ประเภทของ สบส. เป็นแบบมาตรฐานและเปิดกว้างให้โรงพยาบาลต่างๆ ที่จัดซื้อไปสามารถนำไปปรับปรุงหรือเพิ่มเติมตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ได้ และยืนยันว่าไม่มีการล็อกสเปกอย่างแน่นอน”

นพ.สมยศ กล่าวว่า สาเหตุที่สำนักปลัด สธ.ยกเลิกไม่มีให้สเปกเครื่องช่วยหายใจกลาง คาดว่าเป็นเพราะต้องการให้พื้นที่ ดำเนินการเองเพื่อให้ได้เครื่องช่วยหายใจที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ ดังนั้นสเปกเครื่องช่วยหายใจที่ สปส.กำหนดขึ้น จึงไม่มีการประกาศใช้ หรือแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ แต่อย่างใด

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมากระบวนการออกคำสั่งให้ สบส. จัดทำสเปกเครื่องช่วยหายใจถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่มีหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการสั่งด้วยวาจาจากผู้ใหญ่ในสำนักงานปลัด สธ.เท่านั้น ซึ่งเป็นคณะผู้บริหารชุดเก่า รวมถึงการสั่งยกเลิกไม่ต้องทำสเปกเครื่องช่วยหายใจกลางก็เป็นการสั่งด้วยวาจาเช่นเดียวกัน

ระบุเครื่องยูวีไม่ควรสูงเกิน 4 หมื่น

แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลบางแห่งได้จัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยอัลตราไวโอเลตโดยใช้งบบำรุงของโรงพยาบาลแล้ว โดยเป็นการซื้ออย่างถูกต้องประมาณ ส.ค. ก่อนที่จะมีโครงการไทยเข้มแข็ง โดยโรงพยาบาลมหาสารคามจัดซื้อจำนวน 45 เครื่อง โรงพยาบาลร้อยเอ็ดจัดซื้อ 50 เครื่อง โดยเครื่องละ 4 หมื่นบาท แม้ว่าในโครงการเอสพี 2 จะมีการจัดซื้อเครื่องดังกล่าวแต่ไม่ได้มีการสั่งซื้อจากส่วนกลาง แต่อย่างน้อยราคากลางของเครื่องดังกล่าวก็ควรลดลงต่ำกว่า 4หมื่นบาท เพราะโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ก็มีการซื้อให้กับสถานพยาบาลเหล่านี้

นอกจากนี้ เครื่องตรวจชีวเคมีในเลือดนั้นมีความจำเป็นเพียงใด เนื่องจากขณะนี้การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการมี 2 วิธีคือ การซื้อเครื่องจากบริษัท ซึ่งต้องซื้อน้ำยาจากบริษัทเดียวกับเครื่อง และการซื้อเฉพาะน้ำยากับบริษัทหนึ่งบริษัทใด จากนั้นบริษัทเหล่านั้นก็จะนำเครื่องมาให้ใช้งาน โดยราคาค่าน้ำยาอาจสูงกว่าปกติ เพราะได้รวมราคาค่าเครื่องเข้าไปด้วย

“การซื้อเฉพาะน้ำยาแล้วแถมเครื่องก็เป็นทางเลือกที่นิยมใช้กันอยู่ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบเครื่อง อีกทั้งเทคโนโลยีเหล่านี้จะเปลี่ยนไปเร็ว การใช้วิธีทุจริตนี้เป็นการโกงกันยาว หากให้ซื้อเครื่องกับบริษัทใด ก็จะต้องซื้อน้ำยาตรวจจากบริษัทเดียวกับเครื่องไปตลอดอายุการใช้งานของเครื่องเลย จึงเรียกกว่ากินกันยาว เหมือนกับสมัยนี้ที่นิยมการเช่าซื้อมากกว่า อย่างรถยนต์หรือเครื่องถ่ายเอกสาร ก็มักไม่ซื้อเครื่องกันแล้ว จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องค่าซ่อมบำรุง”แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น