xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ชนบท เตรียมส่งข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างไทยเข้มแข็ง ให้ กมธ.1 ตุลา แฉงบสร้างหอพักพยาบาลสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วิทยา” แจงนายกฯ ยัน สธ.ยังไม่มีการจัดซื้อครุภัณฑ์งบ เอสพี 2 ขู่จัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ 188 เครื่อง แม้ไม่ใช่เอสพี 2 แต่เป็นงบกลางปี หากมีล็อกสเปกตามข่าวลือเอาผิดคนทุจริตแน่ ด้านแพทยชนบทเตรียมเข้าให้ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างไทยเข้มแข็ง คณะกรรมาธิการสาธารณสุข 1 ต.ค.นี้ แฉอีกงบก่อสร้างหอพักพยาบาลก็สูงเกินจริง

วันที่ 29 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้หารือกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่มีการกล่าวอ้างถึงการทุจริตการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ระยะที่ 2 หรือเอสพี 2 ในส่วนของ สธ.โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการจัดซื้อเครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงอัลตราไวโอเลต (uv fan) ซึ่งระบุราคาต่อเครื่อง 40,000 หมื่นบาท และได้รับการท้วงติงว่าอาจจะแพงเกินความเป็นจริง ซึ่งนายกฯ เข้าใจว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้รายการงานยังไม่มีการดำเนินการจัดซื้อแต่อย่างใด เพราะยังไม่ได้รับงบประมาณ

“ท่านนายกฯถามว่าเรื่องที่เกิดขึ้น สธ.ทราบเรื่องหรือไม่ ผมได้ชี้แจงว่าทราบ แต่ทราบจากสื่อมวลชนและใบปลิว เพราะยังไม่มีใครส่งข้อมูลร้องเรียนมาอย่างเป็นทางการ และเดิมทีท่านนายกฯเข้าใจว่า สธ.มีการประมูลเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์แล้ว แต่ผมได้ชี้แจงเพิ่มเติมไปว่าแท้จริงยังไม่มีการดำเนินการ รวมทั้งการจัดซื้อเครื่องฆ่าเชื้อดังกล่าวด้วย เป็นแต่เพียงการตั้งงบประมาณขอจัดซื้อในโครงการไทยเข้มแข็งเท่านั้น ซึ่งท่านนายกฯก็เข้าใจและไม่ได้กำชับเรื่องใดเป็นพิเศษ” นายวิทยา กล่าว

พบทุจริตเครื่องช่วยหายใจไม่เอาไว้แน่
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนกระแสข่าวเรื่องการล็อกสเปกการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจนั้น ขอชี้แจงว่า การจัดซื้อดังกล่าวไม่ได้เป็นงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งแต่อย่างใด แต่เป็นการจัดซื้อในโครงการกรณีฉุกเฉินเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และใช้งบประมาณกลางปี เป็นวงเงิน 331,625,090 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 188 เครื่อง วงเงิน 133,550,000 ล้านบาท

“โครงการนี้มีวิธีการจัดซื้อมีลักษณะคล้ายกับโครงการไทยเข้มแข็ง คือ สธ.ได้กระจายงบประมาณลงไปยังพื้นที่ คือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลจังหวัด ที่มีความจำเป็นต้องจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่มีการรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างกลับมายังส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบพบว่ามีการล็อกสเปก หรือทุกจังหวัดจัดซื้อสินค้าจากบริษัทเดียวจะดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำทันที” นายวิทยา กล่าว

เปิดเว็บไซต์จัดซื้อจัดจ้าง สธ.ดูได้ 24 ชั่วโมง
ด้าน พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจดังกล่าว ตามกำหนดแต่ละจังหวัดจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ คือ จะต้องได้รายชื่อผู้รับจ้างแล้ว เพื่อนำไปเบิกจ่ายงบประมาณในภายหลัง อย่างไรก็ จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานว่าผลการดำเนินการจัดซื้อเป็นอย่างไรบ้าง หากบางพื้นที่ที่มีปัญหาไม่สามารถจัดซื้อแล้วเสร็จทันตามกำหนด สธ.สามารถทำเรื่องเสนอขอกันงบประมาณไว้ได้

พญ.ศิริพร กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง 2555 วงเงินทั้งหมด 86,684 ล้านบาทเศษ ซึ่งงบงวดแรกได้รับอนุมัติแล้ว 11,515 ล้านบาทเศษว่า ตามงบประมาณที่ได้รับงวดแรก แบ่งการดำเนินการเป็นเวลา 3 ปี ในปี 2553 วงเงิน 8,227 ล้านบาทเศษ ปี 2554 วงเงิน 2,902 ล้านบาทเศษ และปี 2555 วงเงิน 384 ล้านบาทเศษ มีเป้าหมายพัฒนา 4 แผนงานใหญ่ ได้แก่ 1.การจัดซื้อรถพยาบาลกว่า 800 คัน ให้โรงพยาบาลชุมชน และรถกระบะให้สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ เพื่อการรับส่งต่อผู้ป่วย 2.การพัฒนาอาคารบริการ ที่พักบุคลากร โรงพยาบาลชุมชน 3.โครงการพัฒนาอาคารบริการของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และ 4. โครงการผลิตบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งจะเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป

“สธ.จะดำเนินการให้รอบคอบที่สุด โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 นี้ จะเผยแพร่โครงการรายละเอียดของการพัฒนาทั้งหมด ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th เพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าไปดูได้ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในโครงการดังกล่าวจะให้ทุกจังหวัดส่งรายงานข้อมูลผลการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว เพื่อแสดงความโปร่งใสและความรอบคอบในการดำเนินการยิ่งขึ้น” พญ.ศิริพร กล่าว

พญ.ศิริพร กล่าวว่า ส่วนการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรค เครื่องละ 40,000 บาท ซึ่งอยู่ในโครงการไทยเข้มแข็งงวดที่ 2 ยังไม่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา เป็นราคาที่ได้สอบถามสถานบริการที่เคยใช้มาแล้ว ซึ่ง สธ.ไม่ได้กำหนดสเปกกลางแต่อย่างใด และไม่เคยส่งใครไปเสนอขาย โดยหากเครื่องฟอกอากาศดังกล่าวมีบริษัทผู้ผลิตรายเดียว ก็ไม่ควรดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะไม่เป็นไปตามระเบียบราชการ สธ.ก็พร้อมจะทบทวนต่อไป

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัด สธ.กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 9,770 แห่ง วงเงิน 1.35 ล้านบาท โดยงบ 5 แสนบาทใช้ลงทุนปรับปรุงอาคารสถานที่ ที่เหลือจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ซึ่ง สธ.ได้กำหนดกรอบรายการครุภัณฑ์ไว้ 46 รายการโดยผู้แทนของหลายฝ่าย เพื่อให้แต่ละแห่งเลือกจัดซื้อตามความจำเป็น ขณะนี้ได้ส่งหนังสือสอบถามความต้องการไปแล้ว กำหนดส่งภายใน 30 กันยายน เพื่อรวบรวมรายการจัดส่งไปที่สำนักงบประมาณโดยเร็วที่สุด

“ในจำนวนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 46 รายการ มีเครื่องอัลตราซาวนด์ และเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติอยู่ด้วยนั้น เป็นการเลือกอย่างมีเงื่อนไขที่ต้องมีแพทย์หรือพยาบาลเวชปฏิบัติอยู่ เป็นความต้องการใช้ของสถานีอนามัยบางแห่งจริง เนื่องจากมีแพทย์ประจำการอยู่แล้ว ดังนั้นเครื่องมือนี้เมื่อไปถึงพื้นที่ ก็จะเกิดการใช้บริการจริงกับประชาชน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เตรียมตั้งผู้ตรวจเป็นประธานสอบจัดซื้อ
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อตรวจสอบการจัดซื้อในโครงการไทยเข้มแข็งตามที่นายวิทยาสั่งการนั้น คาดว่า จะมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียน จะเริ่มดำเนินการจากการตรวจสอบกรณีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยแสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งมีแนวโน้มจะตรวจสอบใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ทำไมการจัดซื้อเครื่องฆ่าเชื้อนี้ จึงอยู่ในรายการครุภัณฑ์ที่จะจัดซื้อจากงบไทยเข้มแข็ง เนื่องจากในช่วงแรกไม่ได้อยู่ในรายการที่จะมีการจัดซื้อและเมื่อจัดซื้อแล้วจะนำไปใช้งานอย่างไร และ 2.ทำไมราคาถึงแพง ทั้งนี้ หากมีการจัดซื้อเครื่องฆ่าเชื้อในราคา 40,000 บาทไม่จำเป็นต้องเปิดซองประมูลราคา เนื่องจากราคาต่ำกว่า 1 แสนบาท

“เข้าใจว่า การจัดซื้อเครื่องฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลตน่าจะมีการเสนอเข้าไปไว้ในรายการครุภัณฑ์ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพราะต้องการให้มีการฆ่าเชื้อโรค และต่อไปหากมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่มีลักษณะคล้ายกับเชื้อชนิดนี้อีก ก็จะช่วยให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ปลอดเชื้อโรค” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

แพทย์ชนบท เตรียมให้ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างไทยเข้มแข็งฯ 1 ต.ค.
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะเดินทางเข้าพบคณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการไทยเข้มแข็งฯ ซึ่งดูเหมือนว่ามีสิ่งผิดปกติหลายจุดด้วยกัน และเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องกล้าตัดสินใจในการทบทวนและชะลอโครงการออกไป เนื่องจากพบว่ามีเครื่องมือหลายรายการราคากลางที่สูงเกินจริง ตัวอย่างเช่น การก่อสร้างอาคารหอพยาบาลที่โรงพยาบาลเลย 24 ห้อง ราคาเดิมตั้งไว้ 6.67 ล้านบาท แต่ในโครงการกลับตั้งราคากลางเพิ่มสูงขึ้น 9.57 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มถึง 3 ล้านบาท หรือประมาณ 50%

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ครุภัณฑ์หลายรายการยังสูงเกินจริง 20-30% ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณหากคิดราคาตามที่ควรจะเป็นจะสามารถประหยัดงบประมาณ ได้ถึง 2-3 พันล้านบาท หรือ กรณีของรถพยาบาลฉุกเฉินเคยซื้อ 1.7 ล้านบาท แต่ครั้งนี้มีการตั้งราคาสูงถึง 1.8 ล้านบาท ดังนั้น เสนอให้มีการตรวจสอบราคาครุภัณฑ์ทั้งหมด และให้มีการปรับลดรายการที่ไม่จำเป็น เพื่อนำมาเพิ่มให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น