ครม.ไฟเขียวแผนพัฒนาการศึกษาชายแดนใต้ จัด 2 ส่วน แผนเร่งด่วน เสริมสร้างความเข้มแข็งสถานศึกษา มุ่งสอนภาษาไทย-มลายู จัดครูสอนวิชาสามัญใน ร.ร.เอกชนสอนศาสนา ปอเนาะ โดยรัฐจ่ายเงินเดือนให้ กำหนดมาตรฐานการสอน ส่งเสริมอาชีพมอบวิทยาลัยชุมชนขับเคลื่อน ขณะที่แผนระยะยาว 3 ปี เน้นสร้างโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต อัดฉีดทุนการศึกษาหมื่นทุนต่อปี พร้อมให้ นร.-นศ.กู้ กยศ.จากธนาคารอิสลาม ใช้งบ 2 หมื่นล.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ตามที่ ศธ.เสนอ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แผนเร่งด่วน ปี 2552 จำนวน 5 แผน ได้แก่
1.แผนการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับสถานศึกษาของรัฐ อาทิ การยกระดับคุณภาพ มุ่งเน้นการสอนแบบสองภาษาทั้งไทย-มลายู
2.แผนสนับสนุนโรงเรียนเอกชนอย่างจริงจัง อาทิ จัดให้มีครูเข้าไปสอนวิชาสามัญในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนละ 2 คน และ 1 คนในสถาบันการศึกษาปอเนาะ โดยรัฐจะจ่ายเงินเดือนให้ โดยได้จัดงบฯ สนับสนุนแผนดังกล่าวไว้ถึง 2,100 ล้านบาท
3.แผนสนับสนุนอิสลามศึกษาในทุกระดับ โดยจะมุ่งเน้นการเปิดสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาล รวมทั้งจะมีการกำหนดมาตรฐานการสอนอิสลามศึกษาด้วย
4.แผนส่งเสริมการศึกษาเพื่ออาชีพ โดยให้วิทยาลัยชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน และ
5.แผนพัฒนาระบบการบริหารจัดการ โดยจะมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้งานของ 5 องค์กรหลักเดินหน้าอย่างเป็นเอกภาพและเกิดประสิทธิภาพ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับแผนที่ 2 เป็นแผนระยะยาว 3 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2555 ซึ่งประกอบด้วย 6 แผน ได้แก่ 1.แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2.แผนพัฒนาศาสนศึกษา 3.แผนเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจะมีการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กในพื้นที่ 10,000 ทุนต่อปี การให้นักเรียน นักศึกษาที่เป็นมุสลิมสามารถกู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่านธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และการให้เด็กที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ เกือบ 10,000 คนเข้าเรียนการศึกษานอกโรงเรียนได้ทันที 4.แผนส่งเสริมการศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ 5.แผนการบริหารจัดการศึกษา
และ 6.แผนงานความมั่นคงด้านการศึกษา ซึ่งจะมีมาตรการในการดำเนินการ 151 มาตรการ โดยใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน 20,000 ล้านบาท