xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.น้อมนำโครงการพระราชดำริด้านการศึกษาเด็กพื้นที่สูง-ทุรกันดารปรับใช้ ดัน 5 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ศธ.ระดมสมองขับเคลื่อนการจัดการศึกษานักเรียนพื้นที่ภูเขาสูง ยันรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ แนะ ผอ.สพท.โรงเรียน ผู้เกี่ยวข้อง น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการศึกษาเด็กพื้นที่ภูเขาสูงมาปรับใช้ ช่วยแก้ปัญหาได้ พร้อมดัน 5 ยุทธศาสตร์ยกระดับคุณภาพการศึกษา เตรียมจัดค่ายเยาวชนฯ เพิ่มทักษะ ประสบการณ์ แก่เด็กพื้นที่สูง ทุรกันดาร

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ในฐานะประธานการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ภูเขาสูง และถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า เด็กในพื้นที่ภูเขาสูงและทุรกันดาร ในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 11 จังหวัด 24 พื้นที่เขตการศึกษา แม้ว่าภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือ ตามนโยบายรัฐบาลจัดการศึกษาให้กับทุกคนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพแล้วนั้น แต่การจัดการศึกษาให้เด็กเหล่านี้ทำได้ยากเนื่องจากแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างเช่น เป็นพื้นที่ภูเขา เป็นเกาะ และเป็นหย่อมบ้าน อีกทั้งยังมีหลายชนเผ่า จึงมีวัฒนธรรม ภาษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการจัดการศึกษา ให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับชุมชนนั้นๆ แต่จะต้องมีภาษาไทยไปเชื่อมโยงด้วย

นายชัยวุฒิกล่าวต่อว่า แม้ว่าจะจัดการศึกษาให้เด็กทุกเพศ ทุกวัย เป็นเรื่องยาก ทั้งนี้อยากให้ศึกษาโครงการตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทุกพระองค์ล้วนให้ความสำคัญในด้านการศึกษา แก่เด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งผู้อำนวยการเขตการศึกษา (ผอ.สพท.) โรงเรียน จนผู้เกี่ยวข้องสามารถยึดแนวทางดังกล่าวมาพัฒนาปรับใช้ต่อการศึกษาพื้นที่ภูเขาสูง และถิ่นทุรกันดารได้ เชื่อว่าน่าจะแก้ปัญหาด้านการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของไทย บริเวณภาคเหนือ แนวชายแดนตะวันตก ภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นภูเขาสูง เป็นพื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ดังนั้นประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณแถบนี้ จึงมีความหลากหลายเผ่าพันธุ์ ได้แก่ ชาวไทยพื้นที่ราบ ชาวไทยพื้นเมือง ชาวไทยภูเข่าเผ่าต่างๆ เช่นกะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ ลีซอ ไทยใหญ่ ตองเหลือง นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อยพลัดถิ่น ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน กระจัดกระจาย ตามที่ราบเชิงเขา หุบเขา หรือตามเกาะ และอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำไร่ บุกรุกถางป่า รับจ้างหาของป่า ซึ่งมีฐานะยากจน และจากความยากจนดังกล่าว จึงให้ความสำคัญต่อการเลี้ยงชีพมากกว่าที่จะส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษา

คุณหญิงกษมากล่าวต่อว่า เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแผนพัฒนาการศึกษา ให้แก่เด็กวัยเรียนในพื้นที่สูง ทั้งที่มีและไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร ให้มีโอกาสทางการศึกษา และคุณภาพอย่างทั่วถึง ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งจัดในระบบการศึกษา และการจัดการศึกษาทางเลือก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาระบบข้อมูล และสารสนเทศ ที่เอื้อต่อสิทธิโอกาสทางการศึกษา 2.สร้างทางเลือกให้เข้าถึง บริการทางการศึกษา อย่างหลากหลาย 3.ยกระดับคุณภาพการศึกษา 4.พัฒนาระบบช่วยเหลือและเฝ้าระวังนักเรียน ให้ได้เรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ และพัฒนาเต็มศักยภาพ และ 5.สร้างองค์ความรู้โดยการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติแต่ละ พื้นที่การศึกษาได้รับทราบยุทธศาสตร์และนำไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน

“การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ภูเขาสูงและถิ่นทุรกันดาร นอกจากจะนำผลประชุมและนโยบายครั้งนี้ไปปฏิบัติแล้วทาง สพฐ. จะยังดำเนินการตามนโยบายของ รมว.ศธ. คือการเพิ่มทักษะ และประสบการณ์ ให้แก่เด็กนักเรียนด้วยการเข้าค่ายเยาวชนนักเรียนในพื้นที่ภูเขาสูงและถิ่นทุรกันดารทั้งหมด เพื่อให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น” เลขาฯ กพฐ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น