รายงานพิเศษโดย คีตฌาณ์ ลอยเลิศ
จากอะลูมิเนียมแผ่นเรียบไร้ลวดลาย กลายเป็นงานศิลปะชิ้นวิจิตร ทั้งลายไทย และลวดลายร่วมสมัย ล้วนเกิดจากการ “ความรัก” ของ “ครูดิเรก สิทธิการ” จึงทำให้แผ่นอะลูมิเนียมที่ราคาค่างวดไม่ได้สูงนัก กลายเป็นผลงานที่มีมูลค่าและคุณค่าเพิ่มขึ้นในทันที
ความรักที่เป็นบ่อเกิดของงานศิลปะหลากหลายชิ้นนั้น คือ ความรักและความสนใจที่ครูดิเรกมีให้กับงานดุนโลหะและสลักเงินตั้งแต่วัยเยาว์ และทุ่มเทฝึกปรือ พัฒนาฝีมือกระทั่งสร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จนได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 5 ด้านศิลปหัตถกรรม(ดุนโลหะและสลักเงิน)
“การสลักลายเครื่องเงินในครอบครัวของครู สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย ซึ่งปู่เป็นช่างมาจากพม่า ตอนครูยังเด็กๆ ก็เห็นพ่อกับแม่ทำงานสลักเงินทุกวัน ใจก็อยากจะทำบ้าง แต่พ่อแม่ก็ยังไม่สอนให้เพราะยังเด็กอยู่ บางครั้งก็ลักทำ แอบทำเอง จนพ่อกับแม่เห็นแววจากงานที่เราแอบทำ ก็เริ่มสอนให้ทำงานชิ้นเล็กๆ ไปก่อน ก็เริ่มฝึกปรือมาตั้งแต่เด็กและพัฒนาฝีมือขึ้นมาเรื่อยๆ และเริ่มนำเอาวิธีการดุนโลหะ สลักเงินมาใช้กับอะลูมิเนียม เพราะอะลูมิเนียมไม่แข็งตัว ทำออกมาได้ลวดลายสวยงามเช่นกัน”ครูดิเรกเล่าถึงวัยเยาว์
ครูดิเรกบอกด้วยว่าในอดีตนั้น ชุมชนบ้านวัวลาย วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ที่ครอบครัวของครูดิเรกอาศัยอยู่นั้น เต็มไปด้วยช่างสลักเงินที่มีฝีมือชั้นครู จนเป็นที่รู้กันว่าหากต้องการงานสลักเงินฝีมือประณีตให้มาหาได้ที่บ้านวัวลาย
“ระยะหลังช่างฝีมือหายไปหมด เพราะการผลิตชิ้นงานเริ่มมีโรงงานเข้ามา ทางโรงงานจะใช้วิธีแกะแบบแล้วก็ปั๊มออกมาขาย ทำได้เร็ว และจำนวนมากกว่า ทำให้ช่างสลักเงินฝีมือดีๆ เริ่มหมดไปเพราะไม่มีใครจ้าง ครูก็คิดว่าเราต้องหาทางสืบทอดเพราะไม่เช่นนั้นศิลปะเชิงช่างของไทยและลวดลายไทยแต่โบราณ เช่น ลายดอกพุฒตาล ลายแส้ รูปนักษัตร หรือการขึ้นรูปขันเงิน พานเงิน ซึ่งล้วนเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษต้องหายไปอย่างแน่นอน”
ครูดิเรกตั้งมั่นว่าจะสืบทอดอาชีพดุนโลหะ สลักเงิน และถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังต่อๆ ไป จึงเริ่มนำเอาลวดลายไทย และล้านนามาผสมกับศิลปะร่วมสมัย ทำออกมาเป็นชิ้นงานออกจำหน่าย แม้ในระยะเริ่มแรกจะยังไม่ค่อยมีลูกค้าคนไทยสนใจมากนัก แต่ผลงานของครูดิเรกกลับได้รับคำชื่นชมและเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก จากการบอกเล่าปากต่อปาก กลายเป็นสินค้าที่มีออเดอร์จากต่างประเทศ และโรงแรมระดับ 5 ดาวทั้งในเมืองไทยในเมืองนอก สั่งเข้ามาไม่ขาดระยะ
“ชาวต่างชาติชอบศิลปะร่วมสมัย แต่ก็ต้องมีลวดลายไทยและล้านนาผสมอยู่ด้วย เขาจะนิยมไปใช้ตกแต่งบ้าน ห้องพักในโรงแรม หรือรีสอร์ท ทำให้เรามีรายได้อย่างต่อเนื่อง และทำไม่ทัน จึงเริ่มตั้งกลุ่มชาวบ้าน บ้านวัวลายศรีสุพรรณรับงานไปทำ บางคนทำงานแบบนี้เป็นอยู่แล้ว เราก็ให้คำแนะนำ บอกเทคนิคเคล็ดลับ แต่เด็กรุ่นหลังที่ทำไม่เป็นเราก็สอนให้”
ด้วยความตั้งใจที่จะสืบสานงานศิลปะของไทย ครูดิเรกถ่ายทอดความรู้ที่มีให้กับลูกศิษย์ทุกคนอย่างไม่ปิดบัง ทั้งที่ในอดีตคนในครอบครัวของครู “หวงวิชา”เชิงช่าง และไม่ถ่ายทอดให้กับคนนอกอย่างเด็ดขาด
“ครูคิดว่าหากเราเก็บวิชาไว้กับตัวเอง ความรู้ก็ตายไปกับเราด้วย ต่อไปก็ไม่คนสืบทอด จึงปฏิญาณไว้ว่าจะสอนให้บุคคลทั่วไป และสอนทุกอย่าง ผมเริ่มทำงานตรงนี้ เริ่มทำเป็นก็สอนเลย มีลูกศิษย์เก่งๆ ออกไปประมาณ 4-5 รุ่นแล้ว รุ่นปัจจุบันที่เรียนอยู่ถือเป็นรุ่นที่ 6 ยิ่งเป็นนักศึกษาขอเข้ามาฝึกงานครูก็ยิ่งยินดี ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปสอนเด็กระดับประถมศึกษาให้โรงเรียนวัดศรีสุพรรณ
“เด็กที่มีความสนใจก็จะขอตามมาฝึกงานต่อที่บ้านครู อย่างน้อยครูก็ยังดีใจว่าเด็กรุ่นหลังๆ ยังมีคนสนใจ อยากเรียนรู้และสืบทอด แต่สิ่งที่ครูย้ำตลอดคือ ไม่ต้องทำตามครูทุกอย่าง อยากให้เขาได้คิดเอง ทำงานออกมาเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง”
ครูดิเรกบอกด้วยว่า การดุนโลหะ สลักเงินเป็นงานช่างที่ยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้อย่างแน่นอน โดยในการลงทุนเบื้องต้นใช้เงินประมาณ 3,000-4,000 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ เช่น ค้อน สิ่ว แผ่นอะลูมิเนียม เป็นต้น ที่สำคัญสำหรับเด็กๆ การได้ทำงานดุนโลหะ สลักเงินช่วยให้เด็กใจเย็น มีสมาธิ และเกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งครูดิเรกย้ำว่า ศิลปะไทย เป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศ แม้แต่โรงเรียนนานาชาติก็ยังมาขอให้ครูดิเรกไปช่วยสอนให้กับเด็กในโรงเรียน ซึ่งเด็กต่างชาติหลายคนให้ความสนใจอยากเรียนรู้ แล้วทำไมเด็กไทยจึงไม่อยากเรียนรู้ศิลปะของชาติตน
สำหรับผู้ที่สนใจผลงานของครูดิเรก สามารถชมผลงานได้ที่ บ้านเลขที่ 27 ถ.วัวลาย ซอย 2 ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หรือโทร. 053-201053, 081-287-2731