ศธ.เตรียมตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ยังบ้าน ที่ทำงาน ครูภูมิปัญญาไทย เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ เพิ่มบทบาทช่วยสอนการทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย พร้อมจัดตั้งสมาคมครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเรื่องภูมิปัญญาไทยในทุกภูมิภาค เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย และเสนอผลงานนวัตกรรม
วันนี้ (3 ก.ย.) ที่โรงแรม เอส ดี อเวนิว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมสัมมนา “การยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย” รุ่นที่ 6 พร้อมมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ครูภูมิปัญญาไทย และมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติแก่ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 6 โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา” ว่า ศธ.ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนครูภูมิปัญญาไทย โดยจะนำเรื่องภูมิปัญญาไทยกำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ภูมิใจในความเป็นไทย และภูมิปัญญาไทย และร่วมกันพัฒนาประเทศชาติด้วยการเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยสู่สากล รวมทั้งจะสนับสนุนงบประมาณในการบันทึกองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ณ ภูมิลำเนา หรือสถานที่ทำงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดภูมิปัญญาไทย โดยปัจจุบันจัดตั้งแล้ว 82 แห่ง และในอนาคตจะจัดตั้งให้ครบตามจำนวนครูภูมิปัญญาไทยที่มีอยู่ เพราะแต่ละคนมีภูมิความรู้ที่แตกต่างกัน จึงต้องมีศูนย์เฉพาะตัว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้ครูภูมิปัญญาไทย มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเข้าไปช่วยสอน และถ่ายทอดความรู้ ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งให้จัดตั้งสมาคมครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเรื่องภูมิปัญญาไทยในทุกภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ ตลอดจนเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย และส่งเสริมให้มีการเสนอผลงานนวัตกรรมบนพื้นฐานภูมิปัญญาไทย เพื่อเป็นพลังปัญญาที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาของชาติให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศด้วย
นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สกศ.ได้ยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 6 รวม 59 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค และในปีนี้มีผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ ทั้งสิ้น 7 คน ได่แก่ 1.นายมนูญ ใยบัวทอง ด้านการเกษตรกรรม 2.นางเอือม แยบดี ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม 3.นายสำเนียง ผดุงศิลป์ ด้านศิลปกรรม 4.นายบุญเรือง ยางเครือ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.นายสมภาร บุญซ้อน ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี 6.นายบุญชู จันทรบุตร ด้านแพทย์แผนไทย และ 7.นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ด้านภาษาและวรรณกรรม ซึ่งครูภูมิปัญญาไทยเหล่านี้จะมีหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย 9 ด้าน เพื่อการศึกษาและอาชีพ ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมและหัตถกรรม การแพทย์แผนไทย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทุนและธุรกิจชุมชน ศิลปกรรม ภาษาและวรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา และประเพณี และ ด้านโภชนาการ โดยใช้ภูมิปัญญาไทยเป็นฐานสำคัญของการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ แบบภูมิปัญญไทยที่มีการปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น