xs
xsm
sm
md
lg

ลั่นหากแพทย์ไม่เป็นกลางอย่าปฏิบัติหน้าที่ ก่อนวิจารณ์ถอดหมวกหมอ-คำนำหน้า “นพ.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
แผนรับมือความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมืองตกผลึก เตรียมพร้อมแผน 3 ระดับ รุนแรงน้อย กทม.รับมือได้ รุนแรงมากขึ้นดึงเครือข่ายช่วย หากลามรุนแรงระดับชาติ เรียกกำลังเสริมจ.ปริมณฑล ลั่นหากแพทย์ไม่เป็นกลางอย่าปฏิบัติหน้าที่ ก่อนวิจารณ์ถอดหมวกหมอ ไม่ใช่คำว่า “นายแพทย์”

วันที่ 16 กันยายน ที่สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติหรือข้อสมควรปฏิบัติที่ “จะรักษาชีวิตประชาชนอย่างไรในเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุม” หลังจากการประชุมถอดประสบการณ์ร่วมกันระหว่างสพฉ.สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครและผู้ร่วมปฏิบัติงานในการชุมนุมทางการเมือง ในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 และวันที่ 13-14 เมษายน 2552

นพ.ชาตรี กล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในชุมนุมทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีการปะทะกันของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีการนำแก๊สน้ำตา เข้าควบคุมฝูงชน หรือบางกรณีผู้ชุมนุมนำสารก่อระเบิดชนิดต่างๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต จำนวนมาก และต้องใช้หน่วยกู้ภัยและทีมแพทย์ฉุกเฉินเพื่อกู้ชีพ นำส่ง ผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบและความรุนแรงโดยไม่เลือกฝ่าย ให้ถึงสถานพยาบาลอย่างมีคุณภาพ เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้น้อยถึงน้อยที่สุด ทั้งไม่เพิ่มความเสียหายให้มากไปกว่าเดิมแก่ผู้ชุมนุม และชุมชนใกล้เคียง ซึ่งจากสังคมไทยในขณะนี้มีแนวโน้มว่าการชุมนุมทางการเมืองจะยกระดับความรุนแรงและความเสียหายมากขึ้น

“สิ่งสำคัญที่ทีมแพทย์จะต้องมีการจัดการปฏิบัติการทางการแพทย์ที่เป็นเอกภาพ มีระบบการรายงานสถานการณ์ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ถูกต้อง โปร่งใส มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน เช่น เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉินที่ปฏิบัติงาน มีความมั่นใจในการออกปฏิบัติงาน มีระบบการคัดกรองและวางแผนการปฏิบัติงานเป็นระดับขั้นตามสถานการณ์ขณะนั้น ช่องทางและการสื่อสารอย่างเป็นระบบระหว่างการปฏิบัติการโดยการสื่อสารใช้วิทยุ และโทรศัพท์มือถือและมีตัวแทนในการประสานงาน รวมทั้งการประสานกับทีมสำรองจากจังหวัดปริมณฑล โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากร และทีมปฏิบัติการทางการแพทย์เป็นอันดับแรก รวมทั้งการที่หน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ถูกมองว่าไม่เป็นกลางเกิดปัญหาในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ” นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า ทีมแพทย์ฉุกเฉินทุกคนมีความเป็นกลางและเป็นสีขาวในการปฏิบัติงาน ใครเจ็บ ป่วย ต้องช่วยทุกฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมา มีบางจุดที่ไม่สะดวกในการปฏิบัติหน้าที่และถูกมองว่าไม่เป็นกลาง จึงขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หากต้องช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยหวังว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น

นพ.พีระพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้เตรียมแผนการรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมใน กทม. แบ่งเป็น 3 ระดับ แผน 1, 2 ในสถานการณ์ที่ไม่รุนแรง เป็นแผนระดับพื้นที่ ให้เป็นหน้าที่ของศูนย์เอราวัณ ภายใต้สำนักการแพทย์ กทม.เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นเจ้าของพื้นที่ ทำให้มีความชัดเจน และไม่เกิดความสับสนต่อผู้ใช้บริการ

สำหรับแผน 2 จะระดมทุกหน่วยในเขต กทม.ซึ่งมีหน่วยงานเครือข่ายปฏิบัติการรถพยาบาล รวมทั้งสิ้น 53 แห่งทั่วพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 30 แห่ง รวมถึงมูลนิธิ โดยใช้ในระดับความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการระดับพื้นฐานในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เข้ารับการตรวจรับรองคุณภาพ ได้แก่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิอาสาหนองจอก ศูนย์ราชพฤกษ์ มูลนิธิสยามรวมใจ ศูนย์พิรุณ ศูนย์กูบแดง ศูนย์หงส์แดง และมูลนิธิร่มไทร และแผน 3 ระดับความรุนแรงที่ต้องใช้กำลังเสริมจากปริมณฑล เช่น รพ.พระนั่งเกล้า รพ.ปทุมธานี รพ.อยุธยา รพ.สมุทรสาคร รพ.สมุทรปราการ รพ.ชลบุรี รพ.นครปฐม และเอกชน ถือว่ามีความรุนแรงระดับชาติ มีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เป็นผู้ประสาน โดยมีสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้ว่าเป็นทีมแพทย์ เป็นสัญลักษณ์กากบาท ซึ่งได้ขออนุญาตทางกาชาดแล้วเป็นป้ายแขวนคอ ปลอดแขนและติดที่รถด้วย

ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวอีกว่า ในการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ฉุกเฉิน ทุกคนต้องเป็นกลาง ให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นสีใด ทุกคนต้องเป็นสีขาว หากแพทย์ต้องการแสดงความเห็นถึงความไม่เป็นกลางก็ไม่ควรร่วมปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ หรือ ควรจะถอดคำว่า “นายแพทย์” ออกก่อนการวิพากย์ วิจารณ์ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการทำงานของทีมแพทย์ฉุกเฉินที่ทำงานในพื้นที่ และสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ

กำลังโหลดความคิดเห็น