กทม.ร่วมหลายหน่วยงานจัดกิจกรรม Bangkok Car Free Day ชวนคนกรุงใช้บริการขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว 20-22 ก.ย.นี้ เตรียมเพิ่มเส้นทางจักรยานอีก 10 เส้นทางในปีหน้า ประสานตำรวจดูแลความปลอดภัยคนปั่นจักรยาน
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานแถลงข่าวการจัดกิจกรรม Bangkok Car Free Day 2009 โดยมี ดร.อาณัติ อาภาภิรมย์ กรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายมงคล วิจะระณะ รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ร่วมแถลง ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. โดยกิจกรรม Bangkok Car Free Day 2009 กำหนดจัดขึ้น ในวันที่ 22 ก.ย.2552 โดยข้าราชการและลูกจ้าง กทม.กว่า 100,000 คน ร่วมมือร่วมใจไม่นำรถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน ใช้วิธี “ทางเดียวกันไปด้วยกัน” (Car Pool) หรือใช้บริการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่น เช่น รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถ BRT เรือโดยสาร และจักรยาน เพื่อเป็นหน่วยงานต้นแบบ การลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
และในวันที่ 20 ก.ย. กทม. ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “ลดใช้รถยนต์ ช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม” โดยมีรถจักรยานกว่า 1,000 คัน ร่วมแปรขบวนธงชาติไทย ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกทมจากนั้นจะขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ไปสถานีหมอชิต ก่อนเดินทางต่อไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อร่วมแปรขบวนรถจักรยานเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย สีรุ้ง 7 สี 76 จังหวัด ร่วมกับอีก 11 จังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ อีก 26 จังหวัดจะร่วมจัดกิจกรรมในวันคาร์ฟรีเดย์ด้วย ส่วนวันที่ 21 ก.ย.จะขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานราชการ องค์กร และโรงเรียนต่างๆ ในย่านที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น สาทร สุขุมวิท สามเสน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ และในช่วงการจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. ผู้ใช้รถจักรยานสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสฟรี สามารถนำรถจักรยานขึ้นไปบนสถานี และใช้บริการได้เฉพาะโบกี้ที่ 3 เท่านั้น
นายธีระชนกล่าวว่า ปัจจุบันกทม.มีจำนวนรถยนต์กับรถจักรยานยนต์รวมราว 5 ล้านคัน ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนมีอัตราการเคลื่อนที่เพียง 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดการณ์ว่าใน พ.ศ. 2564 ความต้องการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเพิ่มขึ้นเป็น 26.2 ล้านเที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 การแก้ปัญหาจะต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ทั้งระบบรถไฟฟ้า รถเมล์ด่วนพิเศษ BRT และรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light Rail) ระยะทางรวม 133.6 กิโลเมตร เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทาง รวมทั้งส่งเสริมการใช้รถจักรยานมากขึ้นโดยการรณรงค์เชิญชวนประชาชน และประสานตำรวจจราจรดูแลไม่ให้รถอื่นวิ่งบนทางจักรยาน
ปัจจุบัน กทม.มีเส้นทางจักรยานอยู่ 9 เส้นทางนโยบายต่อไปจะเพิ่มเส้นทางจักรยานเป็น 20 เส้นทาง เน้นในพื้นที่ชั้นใน และจุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้าจำนวน 10 เส้นทาง