xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 50,000 ล้านปรับรูปลักษณ์ รพ.ตำบลทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"อภิสิทธิ์" ประกาศปฏิรูประบบสุขภาพคนไทย พัฒนาสถานีอนามัยสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดูแลสุขภาพเชิงรุก สธ.ทุ่มงบเกือบ 5 หมื่นล้านบาท จับมือภาคีเครือข่ายสุขภาพ องค์กรปกครองท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพสอ.รุ่นแรก 4,500 แห่ง ปี 2552 ตั้งเป้า 1,001 แห่ง

วันที่ 4 กันยายน ที่อิมแพค เมืองทองธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานมหกรรม “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล...จุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทย” และเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก้าวสำคัญของยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทย” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลองค์การการบริหารส่วนตำบล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 4,000 คน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยด้วยการยกระดับและพัฒนาคุณภาพของระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ โดยจะยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการรักษาเป็นการส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว

“แม้ว่าระบบสุขภาพจะได้รับการพัฒนาตั้งแต่เริ่มมีการรักษาฟรีในผู้ด้อยโอกาส ยากจน จนกระทั่งปัจจุบันให้การรักษาโรคฟรีแต่ปัญหาคุณภาพการให้บริการยังไม่หมดไป รัฐบาลพยาบาลพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในงบประมาณปี 2553 ซึ่งรัฐบาลรายได้ลดลงแต่ก็ตัดสินใจเพิ่มงบรายหัว 200 บาทต่อคน เพื่อให้ทรัพยากรเพียงพอในการดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไกลเพื่อมาพบแพทย์ ทำให้เสียเวลาและโอกาสที่ต้องรอคิวการรักษา”นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในโครงการลงทุนเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือโครงการไทยเข้มแข็ง ในระยะ 3 ปี ตั้งแต่ ปี 2553-2555 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณสนับสนุนกว่า 80,000 ล้านบาท ในระบบบริการระดับปฐมภูมิประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยมีการผลักดันส่งเสริมอย่างครบวงจร ทั้งการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้น เน้นการทำงานเชิงรุกไม่ปล่อยให้คนป่วยแล้วจึงรักษา ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากที่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยที่สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานีอนามัยที่มีคลอบคลุมทุกตำบล ทั้งประเทศรวมเกือบ 10,000 แห่ง หากสามารถพัฒนาศักยภาพสถานีอนามัยเหล่านี้ได้จะทำให้ประชาชนมีความสะดวกเข้าถึงบริการสุขภาพที่ใกล้บ้านยิ่งขึ้น

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2552 ตั้งเป้ายกระดับศักยภาพของสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชนให้มีศักยภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 1,001 แห่ง โดยจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้ โดยในปี 2555 ตั้งเป้าหมายไว้ 9,810 แห่ง ทั้งนี้จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการ โดยให้งบประมาณสนับสนุนแห่งละ 1 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวจะ ใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2552-2555 รุ่นแรกมีเป้าหมายจำนวน 4,500 แห่ง ใช้งบรวมทั้งหมดเกือบ 50,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งบจากกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สปสช. และสสส. รวม 30,877 ล้านบาทเศษ และงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล พ.ศ. 2553-2555 อีกจำนวน 14,973 ล้านบาท โดยจะปรับปรุงอาคารสถานที่ เครื่องมือแพทย์ และรถพยาบาลเพื่อใช้ส่งต่อผู้ป่วย เกือบ 1,000 คัน

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2551 มีผู้ป่วยเข้าตรวจรักษาในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศที่แผนกผู้ป่วยนอก รวมกว่า 140 ล้านครั้ง เพิ่มจากปี 2550 ที่เข้ารับริการกว่า 130 ล้านครั้ง ส่วนผู้ป่วยพักรักษาในโรงพยาบาลปี 2551 จำนวน 9.4 ล้านครั้ง ในขณะที่ปี 2551 จำนวน 8.9 ล้านครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า โรคที่เกิดจากพฤติกรรมหรือโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองและปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นสาเหตุต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวนกว่า 1.35 ล้านครั้ง ทำให้การเข้ารับบริการต้องใช้เวลารอนาน ที่สำคัญแพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยน้อยลง

ด้านนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะมี 3 ขนาด ตามจำนวนประชากรที่รับผิดชอบ ได้แก่ ขนาดเล็ก ดูแลประชากรไม่เกิน 3,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 5 คน ขนาดกลางดูแลประชากรไม่เกิน 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 7 คน และขนาดใหญ่ ดูแลประชากร มากกว่า 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 9-10 คน

ด้านการปรับปรุงด้านสถานที่ จะต่อเติมชั้นล่างของสถานีอนามัยให้เป็นห้องตรวจรักษา จัดซื้อเครื่องมือแพทย์และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการให้บริการ มีเตียงนอนสังเกตอาการอย่างน้อย 3 เตียง มียาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกับโรงพยาบาล รวมทั้งติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์เชื่อมต่อกับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยปรึกษาการรักษากับแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่เป็นแม่ข่ายโดยตรง สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยว่าจะได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล และหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วยชีวิตและนำส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย หากเกินขีดความสามารถ มีระบบส่งตัวรักษาต่อในโรงพยาบาลแม่ข่ายทันที”นพ.ศิริรวัฒน์กล่าว

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในด้านการรักษาพยาบาล จะเพิ่มพยาบาลเวชปฏิบัติประจำทุกแห่ง ทำหน้าที่ตรวจรักษาโรคพื้นฐาน เช่น ปวดหัว ปวดท้อง แทนแพทย์ และมีแพทย์ บุคลากรด้านแพทย์แผนไทย เภสัชกร ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักสังคมสงเคราะห์ ไปร่วมให้บริการทั้งเต็มเวลาและบางเวลา ตามความจำเป็นและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มบุคลากรด้านอื่นๆ จากเดิมอีก 2-4 เท่าตัว หรือให้มีประมาณ 6-12 คน ทำงานร่วมกับ อสม.ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เชื่อมั่นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ในการพัฒนาครั้งนี้เป็นอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น