“อภิสิทธิ์” ประกาศปฏิรูประบบสุขภาพคนไทย ทุ่มงบ 50,000 ล้าน ตั้ง “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ยกระดับจากสถานีอนามัย เป็นหน่วยดูแลสุขภาพเชิงรุก ด้าน “วิทยา” ชี้ 1 ต.ค.ดีเดย์ 1,000 แห่ง ครอบคลุมทุกอำเภอ
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่อิมแพค เมืองทองธานี กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดงานมหกรรม “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล...จุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทย”
โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวที ว่า รัฐบาลกำลังจะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากความสำเร็จในอดีตยังมีลักษณะของการแยกส่วนอยู่ระหว่างงานซ่อมสุขภาพและงานสร้างเสริมสุขภาพ ด้านหนึ่งเรามีความพยายามผลักดันให้มีหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเสียน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ได้มีการพัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพที่ดูเหมือนต่างฝ่ายต่างเดินไป รัฐบาลจึงผลักดันให้เกิดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การนำงานสองส่วนนี้มาบรรจบเพื่อให้เกิดการบูรณาการ เกิดความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“จากนี้ไปเรื่องของการให้บริการและการทำงานเชิงลึกจะเข้าไปอยู่ใกล้ตัวพี่น้องประชาชนผ่านการยกระดับของสถานีอนามัยตำบลที่จะกลายมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ประมาณ 10,000 กว่าแห่ง ซึ่งในเดือนหน้าจะมีการเปิดตัวโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลได้นับ 1,000 แห่ง จะเห็นได้ว่าในปีงบประมาณ 2553 ที่รายได้ของรัฐลดลงหรือขาดไป 2 แสนกว่าล้านบาท แต่รัฐบาลก็ยังตัดสินใจที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับพี่น้องประชาชนในการรักษาฟรีหัวละ 200 บาท เพื่อให้เกิดการรักษาพยาบาลแก่พี่น้องประชาชนมีความเพียงพอ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการสูญเสียเวลาของประชาชน โดยการเพิ่มความสะดวกและเพิ่มการบริการให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเชื่อมโยงกันในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอื่นๆให้สามารถเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ให้มาดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง ด้วยการทำงานเชิงรุกที่มีศูนย์รวมอยู่ในพื้นที่ และยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะที่ 2 ของนโยบายไทยเข้มแข็ง ตั้งแต่ปี 2553-2555 ซึ่งจะมีงบประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในเรื่องนี้และยังเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรระบบสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องการให้บริการประชาชนอย่างแท้จริง
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ประชาชนไทยเจ็บป่วยมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยนอกเข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศเพิ่มขึ้น จาก 130 ล้านครั้ง ในปี 2550 เป็น 140 ล้านครั้ง ในปี 2551 ทำให้การเข้ารับบริการต้องใช้เวลารอนานและแพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยน้อยลง กระทวงสาธาณรสุขจึงปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านสุขภาพแบบใหม่ด้วยการปฏิรูปกลไกการทำงานขของสถานีอนามัย ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดและครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ จำนวน 9,810 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 30,000 คน โดยพัฒนาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของระบบสาธารณสุขไทย ด้วยการทำงานเชิงรุกที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ โดยให้ประชาชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเองและท้องถิ่น เพื่อลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งปรับปรุงบริการสุขภาพให้ประชาชนเข้ารับบริการในพื้นที่ได้สะดวกมากขึ้น
นายวิทยา กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุภาพตำบล จะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2552-2555 โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท จากงบของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองท้องถิ่น สปสช.และ สสส.รวม 30,877 ล้านบาท และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล อีกจำนวน 14,973 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่ เครื่องมือแพทย์ และรถพยายาบาลที่ใช้ส่งต่อผู้ป่วย 1,000 คัน ซึ่งในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะเกิดโรงพยาบาลส่งเสริมสขภาพตำบลขึ้นทั้งหมด 1,001 แห่ง ครอบคลุมในทุกอำเภอที่มีอยู่ 800 กว่าแห่งทั่วประเทศ และภายใน 3 ปี กระทรวงสาธารณสุขจะเกิดขึ้น 9,000 แห่ง
ขณะที่ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเริมสุขภาพตำบลจะมี 3 ขนาด ตามจำนวนประชากรที่รับผิดชอบ ได้แก่ ขนาดเล็ก ดูแลประชากรไม่เกิน 3,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 5 คน ขนาดกลางดูแลประชากรไม่เกิน 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 7 คน และขนาดใหญ่ดูแลประชากรมากกว่า 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 9-10 คน