xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.อุดปัญหาขาดหมอใต้ ดึงงบ 8 ล้านติดเทเล-เมดิซีนรักษาทางไกล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สปสช.ติดตั้งระบบเทเล-เมดิซีน ตรวจรักษาโรคทางไกลโรงพยาบาลใน 7 จ.ภาคใต้ตอนล่าง 10 แห่ง 11 จุด งบ 8 ล้านบาท แก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลน พื้นที่ห่างไกล ลดการส่งต่อผู้ป่วย เล็งขยายคลุมเหนือ-อีสาน ที่กันดารเข้าถึงยาก

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช.ได้เริ่มติดตั้งระบบเครือข่ายการตรวจรักษาสื่อสารเพื่อให้คำปรึกษาและประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยทางไกลผ่านระบบเทคโลยีการสื่อสาร หรือ เทเล-เมดิซีน (Tele-medicine) ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จำนวน 10 โรงพยาบาล รวม 11 จุดสื่อสาร งบประมาณ 8 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านบุคลากรและความห่างไกลของพื้นที่ ซึ่งระบบเทคโนโลยีดังกล่าว ช่วยลดปัญหาการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีการให้คำปรึกษาและช่วยให้การส่งต่อผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งระบบเทเล-เมดิซีน มีมานานแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่เป็นที่นิยม แต่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายลดลงจึงคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งในอนาคต สปสช.มีโครงการจะขยายการติดตั้งระบบเทเล-เมดิซีนในภาคเหนือและอีสานด้วยเช่นกัน เพราะเป็นพื้นที่มีปัญหาความห่างไกล สามารถเข้าถึงได้ยาก

“ระบบเทเล-เมดิซีน ช่วยอำนวยความสะดวกให้โรงพยาบาลสามารถขอคำปรึกษาการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ทั้งภาพเคลื่อนไหว เสียง และข้อมูลอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น คลื่นหัวใจ เป็นต้น จึงไม่จำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งแพทย์ที่ให้คำปรึกษาสามารถเห็นสภาพจริงของผู้ป่วย ซึ่งเหมาะกับกรณีที่ผู้ป่วยวิกฤตและผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน ในพื้นที่ทางไกล หรือการเดินทางลำบากโดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีปัญหาความไม่สงบ”นพ.วีระวัฒน์ กล่าว

นพ.วีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สปสช.จะได้ติดตั้งระบบเทเล-เมดิซีน ที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จำนวน 2จุดสื่อสาร และโรงพยาบาลหาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลแม่ขาย ค่อยให้คำปรึกษาในการรักษาผู้ป่วย ส่วนโรงพยาบาลอีก 8 แห่ง จะเป็นโรงพยาบาลลูกข่าย ได้แก่ โรงพยาบาลควรขนุน จ.พัทลุง โรงพยาบาลเบตง จ.ยะลา โรงพยาบาลนราธิวาส โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลสตูล โรงพยาบาลตรัง และโรงพยาบาลพัทลุง แห่งละ 1 จุดสื่อสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น