xs
xsm
sm
md
lg

กรอบการเจรจาชายแดนไทย-กัมพูชา รัฐสภาไทยอย่าตกหลุมพราง!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทความโดย : นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล ผู้ช่วยวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วาระการประชุมที่เป็นเรื่องเสนอใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็น “บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา” ตามวาระที่ 5.7 หรือ “ร่างกรอบการเจรจาเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในกรอบของคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชาและกลไกอื่นๆภายใต้กรอบนี้” ตามวาระที่ 5.13 ที่จะมีการนำเข้าพิจารณาลงมติอีกครั้ง ในวันที่พุธที่ 2 กันยายน 2552 เวลา 9 โมงเช้า นั้น
เป็นเรื่องที่บรรดาสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติทั้งหลายพึงพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งก่อนที่จะยกมือลงมติ เพราะนี่คือการลงมติในเรื่องที่มีบทเปลี่ยนแปลงดินแดนและอธิปไตยของประเทศ และครั้งนี้นักวิชาการและประชาชนได้ชี้แจงต่อสาธารณะด้วยเหตุผลและหลักฐานอันเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นแล้วว่า กรอบการเจรจาตามร่างข้อตกลงชั่วคราวนี้จะนำไปสู่การเสียดินแดนและอธิปไตยของชาติเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร บริเวณปราสาทพระวิหาร

เนื่องจากประเด็นสำคัญในร่างข้อตกลง คือ การถอนทหารของจากพื้นที่พิพาทและแทนที่ด้วยกลไก JBC หากรัฐสภาอนุมัติและมีการแจ้งให้กัมพูชาทราบ ร่างข้อตกลงนี้ก็จะมีผลบังคับใช้ในทันที โดยในร่างข้อตกลงระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า

ข้อ1 คู่ภาคีจะไม่คงกำลังทหารของแต่ละฝ่ายในวัด “แก้วสิขาคีรีสะวารา” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “วัด” ) พื้นที่รอบวัด และพื้นที่ [ไทย-ปราสาท] [กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวีเฮียร์ (พระวิหารในภาษาไทย)] แม่ทัพภาคที่สองของกองทัพบกไทยและผู้บัญชาการกองทัพภาคที่4 ของกัมพูชา จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมร่วมกัน เพื่อปฏิบัติให้ข้อบทนี้มีผล โดยผ่านชุดทหารติดตามสถานการณ์ชั่วคราวของแต่ละฝ่าย

ความหมายในข้อที่1 คือการถอนทหารออกจากพื้นที่วัดและบริเวณรอบวัด ในเขต 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในความเป็นจริงนั้นทหารไทยต้องตกอยู่ในฐานะอย่างเชลยมาก่อนหน้านี้แล้ว คือมีทหารไทยประจำการที่วัดเพียงวันละ 12 นาย แบบไปเช้า-เย็นกลับ ไม่ได้แต่งเครื่องแบบทหารและพกพาอาวุธ แต่ทหารกัมพูชากลับสามารถสวมเครื่องแบบและพกอาวุธครบมืออยู่ในพื้นที่ได้อย่างอิสระ และสามารถกลายสภาพเป็นพลเรือนได้ในทันที ซึ่งในร่างข้อตกลงฯไม่มีการกำหนดให้ต้องถอนพลเรือนและสิ่งปลูกสร้างของกัมพูชาออกจากพื้นที่ด้วย

ดังนั้น ข้อตกลงที่ให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ ด้วยเหตุผลเพราะต้องการระงับข้อพิพาท ป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะ และเพื่อจัดทำหลักเขตแดนร่วมกันให้แล้วเสร็จโดยอาศัยกลไก JBC นั้น ความจริงคือการถอนทหารไทยออกแต่ฝ่ายเดียว และเป็นเพียงอุบายวิธีเพื่ออำนวยการให้เกิดภาพของความสงบขึ้นในพื้นที่ เป็นไปตามเงื่อนไขและคำแนะนำจากคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโก โดยที่กัมพูชาไม่จำเป็นต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จริงๆ แต่เพียงถอดชุดทหารออกเท่านั้นก็ใช้ได้

ด้วยวิธีนี้ กัมพูชาสามารถยืมมือของรัฐบาลไทยแจ้งต่อคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกได้ในทันที ว่าได้แก้ไขปัญหาพิพาทกับไทยได้สำเร็จแล้วโดยอาศัยกลไก JBC ตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานที่ส่งถึงศูนย์กลางมรดกโลกเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 และปรากฏในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 33 ณ เมืองเซวิลล์ ประเทศสเปน โดยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกฎหมายภายในของแต่ละฝ่ายแล้ว และกัมพูชาสามารถจะจัดส่ง “แผนบริหารจัดการสำหรับพื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร” ฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อศูนย์กลางมรดกโลกได้ในทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2553


ข้ออ้างของไทยที่เข้าใจว่าการจัดทำหลักเขตแดนจะเป็นการยื้อเวลาอย่างยืดเยื้อไม่ให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้อย่างสมบูรณ์ทันกำหนดเวลา และจะถูกถอดจากทะเบียนมรดกโลกในที่สุดนั้น เป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง เหตุเพราะกัมพูชาไม่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากไทยในการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในรูปแบบคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (ICC) อีกต่อไป แต่ได้แปลงร่างไปใช้กลไก JBC ซึ่งเปิดโอกาสให้กัมพูชาใช้พื้นที่ดำเนินการเรื่องมรดกโลกได้อย่างสะดวกแต่ฝ่ายเดียว แต่ทว่ากระบวนการจัดทำหลักเขตแดนที่ไทยหวังว่าจะเป็นการถ่วงเวลากัมพูชาอย่างยาวนาน จึงกลับจะกลายเป็นคุณกับกัมพูชาแทน ดังข้อตกลงข้อที่8 ระบุว่า

ข้อตกลงชั่วคราวฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแจ้งภาคีแต่ละฝ่ายว่าได้ดำเนินการตามกระบวนกฎหมายภายในของตนเสร็จสิ้นแล้ว และคงมีผลบังคับใช้จนกว่าการจัดทำหลักเขตแดนจะเสร็จสิ้นลงในพื้นที่ประชิดกับ[ไทย-ปราสาท] [กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวีเฮียร์ (พระวิหารในภาษาไทย)] คู่ภาคีจะพยายามเร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของตน

ดังนั้น กว่าประเทศไทยจะรู้ว่าเส้นเขตแดนไทยอยู่ที่ไหนแน่ อาจต้องใช้เวลาอีกร้อยปี และเมื่อถึงเวลานั้น เส้นเขตแดนก็คงไม่ใช่สันปันน้ำอย่างที่คนไทยทุกคนต้องการเห็นอีกต่อไป การถอนทหารเพื่อจะจัดทำหลักเขตแดนที่จะไม่มีทางเสร็จสิ้นง่ายๆนี้ คือก้าวสำคัญของการยอมเสียดินแดนอย่างถาวร และจะเป็นการเสียดินแดนที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องโดยรัฐสภาไทย เป็นกฎหมายปิดปาก และจะเป็นค่าโง่ครั้งประวัติศาสตร์อันน่าอดสูของชาติไทย ภารกิจนี้วางอยู่บนบ่าของสมาชิกรัฐสภาไทยทุกคนแล้ว จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่รับผิดชอบคงไม่ได้อีกต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น