xs
xsm
sm
md
lg

สพฉ.พร้อมรับมือ “หางแดง” ชุมนุม ตั้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเกาะติดสถานการณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
สพฉ.เตรียมความพร้อมรับมือเหตุรุนแรงการชุมนุมเสื้อแดง กำจัดจุดอ่อนการประสานงาน ศูนย์สั่งการ เสริมกำลังแพทย์เพียงพอลดสูญเสียให้ได้มากที่สุด พร้อมขึ้นทะเบียนกู้ชีพ ตรวจสอบได้ อุดช่องมือที่ 3 ประกาศหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเป็นกลางทางการแพทย์ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด วอนเชื่อใจ สรุปเมษาเลือดตาย-สูญหาย ยกเมฆสร้างเรื่อง 

นพ.ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวในเวทีเสวนาความพร้อมการรับมือเหตุสาธารณภัยและการชุมนุม “จะรักษาชีวิตประชาชนอย่างไร ในเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุม” ว่า การเตรียมความพร้อมรับมือทางการแพทย์ฉุกเฉินในการชุมนุมทางการเมือง จะเน้นการช่วยเหลือชีวิตไม่ให้เกิดการสูญเสียหรือสูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งคาดว่า สถานการณ์จะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน โดยมีการประชุมหารือกันประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อวางแผน ซักซ้อมทำความเข้าใจแก้ไขจุดอ่อนในการดำเนินการที่ผ่านมา รวมทั้งมีการแบ่งงานกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง

“การปฏิบัติงานของบุคลการกรการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ให้การรักษาพยาบาลโดยไม่รังเกียจไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใดให้ไว้วางใจว่าจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ส่วนที่มีข่าวว่า โรงพยาบาลซ้อนศพ หรือ นำรถขนศพไปทิ้ง จากการตรวจสอบเหตุการณ์ในช่วงเมษายนย่านดินแดง นางเลิ้ง ของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นจากทั้ง 3 ฝ่าย ชัดเจนแล้วว่า ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนผู้สูญหายที่มีข้อมูลว่าถูกจับไป จ.ลพบุรี เพื่อสอบสวนก็ถูกปล่อยออกมาหรือมีคนเห็นศพนอนเกลื่อนกว่า 20-30 ศพ ก็เป็นการสร้างเหตุการณ์ขึ้นและยกเมฆทั้งหมด เพราะความจริงคือ เป็นการนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทหารผ่านศึกและไม่มีใครตาย”นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ถือว่ามีความพร้อมในระดับหนึ่ง โดยเตรียมแผนปฏิบัติการ 2 ระดับ คือ 1.หากมีการชุมนุมที่มีประชาชนจำนวนมาก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 100-200 คน จะใช้บุคลากรการแพทย์ในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด 2.หากมีผู้บาดเจ็บเกินกว่า 200-400 คน จะต้องระดมกำลังจากในเขตปริมณฑลเข้ามาเสริมกำลัง รวมทั้งติดตามสถานการณ์ด้านการข่าวอย่างใกล้ชิด รวมกับมีการออกประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้กำกับ การปฏิบัติงานจึงน่าจะไม่มีปัญหาและง่ายขึ้น

ด้าน นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้มีการขึ้นทะเบียนบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉินที่ปฏิบัติงานทั้งหมดกว่า 1 พันคน ซึ่งทุกคนจะมีเลขรหัสประจำตัว บัตรแสดงตัวเป็นหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน สามารถตรวจสอบได้ ขจัดปัญหามีมือที่ 3 ช่วยลดความสับสน อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติจะจะต้องเน้นหลักความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องจากพบว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีทักษะในการเข้าให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซึ่งอาจถูกลูกหลงได้ แทนที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอาจกลายเป็นภาระ ซึ่งในเหตุความรุนแรงเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า มีกระสุนปืนถูกรถพยาบาลแม้ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น จึงจะประสานเสนารักษ์ทหารให้นำผู้บาดเจ็บออกมาจากนั้นส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ แพทย์ ส่งต่อไปยังโรงพยาบาล

นพ.พีระพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการหารือแก้ปัญหาอุปสรรคการทำงานหลายครั้ง เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังเสริม เนื่องจากทีมกู้ชีพฉุกเฉินต้องปฏิบัติงานเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องกันนานเกินกว่า 48 ชั่วโมง จำเป็นต้องมีการผลัดเปลี่ยนหรือส่งอาหาร น้ำ ทั้งนี้ที่ผ่านมายังไม่เป็นระบบมากนัก เพราะยังไม่มีประสบการณ์ รวมทั้งปัญหาในการสั่งการที่ มีผู้เข้าร่วมปฏิบัติการกู้ชีพเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการสับสน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ไม่ผ่านการซักซ้อม และหน่วยงานที่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งพบว่า ยังไม่รู้จักเส้นทางในกทม.ทำให้เป็นปัญหาการขนส่งผู้ป่วย และการทำงานไม่เป็นเอกภาพ เพราะมีผู้สั่งการหลายหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้รวมให้สำนักการแพทย์ กทม.เป็นศูนย์สั่งการใน กทม.แล้ว

“ส่วนความเป็นกลางทางการแพทย์นั้น หากยอมรับความจริงว่า ไม่มีใครที่เป็นกลางอยู่ในทุกสังคม ไม่ใช่เพียงแต่แพทย์เท่านั้นที่ถูกมองว่าไม่เป็นกลาง ทหาร ตำรวจก็ถูกมองในลักษณะเดียวกัน ซึ่งทำให้การทำงานยากลำบากขึ้น ทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี ราชวิถี โดนหมด การที่สร้างภาพลักษณ์ให้เป็นกลางจะต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งหากใครที่ไม่ได้เป็นกลางก็อย่าเข้าปฏิบัติงานตรงนี้ หรืออย่างแสดงตัวว่าอยู่ในทีมแพทย์ฉุกเฉิน” นพ.พีระพงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น