สพฉ. จัดเวทีสาธารณะระดมความเห็นรักษาชีวิตประชาชนในการชุมนุมทางการเมืองไม่ให้มีคนเจ็บตาย หาทางออกแก้ปัญหาการประสานงาน-การวางแผน-การซ้อม ไม่ชี้ผิดถูก พร้อมเรียกร้อง “ความเป็นกลาง” ทางการแพทย์
นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และแผนงานร่วมสร้างเสริมสุขภาพกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จัดเวทีสาธารณะ “เราจะรักษาชีวิตประชาชนอย่างไรในเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุม” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร เวลา 10.00 น. – 12.30 น.ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
"เวทีสาธารณะในครั้งนี้จะไม่มีการชี้ผิดชี้ถูกในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง แต่จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เกิดการพัฒนาและให้สังคมรับในวิธีคิดร่วมกันว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ต้องไม่เกิดความสูญเสีย บาดเจ็บ ตาย และไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง"นพ.ชาตรี กล่าว
นพ.ชาตรี เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของทีมนพ.อารักษ์ วิบุลผลประเสริฐ และทีมวิจัย ได้ศึกษาการตอบสนองทางการแพทย์ในการรับมือเหตุสาธารณภัยจากความไม่สงบทางการเมือง ในวันที่ 29 ส.ค. และ 2 ก.ย. 2551 มานำเสนอ ร่วมกับประสบการณ์จากการปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินของนพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สอดคล้องกันโดยพบว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมนั้นมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ยังมีอุปสรรคที่ต้องจัดการอยู่ เช่น การประสานงาน การสื่อสาร การวางแผนและฝึกซ้อมร่วมกัน เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีมากมาย ตนคิดว่าเวทีในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาความร่วมมือในการสร้างองค์ความรู้เรื่องระบบการแพทย์ฉุกเฉินในสังคมไทย นอกจากนี้ ยังมีอีกบทเรียนสำคัญคือ ความไม่เชื่อถือของประชาชนบางกลุ่มต่อการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตนคิดว่าเราต้องทำให้การแพทย์เป็นกลางให้ได้ เราต้องพูดความจริง ต้องให้ความจริงต่อสังคม
ด้าน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงค์ไพศาล ผู้นำการอภิปรายในเวทีกล่าวว่า การแพทย์ฉุกเฉินทั้งหมดต้องเป็นกลาง ซึ่งความเป็นกลางไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมไม่ยอมรับวิธีคิดที่จะรักษาชีวิตประชาชน และไม่ช่วยกันผดุงรักษาอุดมคติไว้ นอกจากนี้ การปฏิบัติการของผู้นำการชุมนุม ฝ่ายตำรวจ ทหาร ก็ต้องเป็นไปเพื่อลดทอนความสูญเสียของร่างกายและชีวิต
“เราต้องเรียกร้องความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความสูญเสียมีน้อยที่สุด เพราะเรากำลังพูดถึงภัยพิบัติที่ไม่มีพระเอก เราต้องการทุกคนมาเล่นดนตรีเสียงประสาน” ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว