"วิทยา" เตรียมตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมทำ "เมดิคอลลฮับ" พร้อมประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ยันจะอิมพอร์ตหมอต่างชาติรักษาในไทย โดยอยู่ภายใต้กรอบของแพทยสภา ขณะที่หมอแนะต้องศึกษาวางกรอบให้ดี มีนโยบายชัดเจน
นาย วิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือเมดิคอลฮับ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่จะต้องทำภายใต้หลักการคือ ต้องไม่กระทบกับการรักษาสุขภาพของคนไทย แต่จะเป็นการดำเนินการรูปแบบใดนั้น จะต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อน โดยในเร็วๆ นี้ ตนจะออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการโครงการ เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ จะเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรอบคอบ
“ผม ยังมีแนวคิดเดิมคือ ต้องการรับแพทย์จากต่างชาติเข้ามารักษาผู้ป่วยต่างชาติ แต่ต้องเป็นไปตามภายใต้กรอบระเบียบของแพทยสภา เพื่อไม่กระทบกับแพทย์ในสังกัด สธ. รวมทั้งโรงพยาบาลที่จะเป็นเมดิเคิลฮับ จะเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในปัจจุบันทำอยู่แล้ว เพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่วนภาครัฐ สธ. จะเป็นผู้ผลักดันและสนับสนุนนโยบาย หรืออำนวยความสะดวกให้เท่านั้น” นายวิทยา กล่าว
ด้านนพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวว่า ขณะนี้สวรส.ได้เก็บข้อมูลแพทย์ที่ลาออกจากภาครัฐในประเทศไทยแล้วไปทำงานภาค เอกชนว่ามีจำนวนเท่าใด เบื้องต้นพบว่า แพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ลาออกมาอยู่ ภาคเอกชน ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากบุคลากรดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาขาด แคลนบุคลากร
“เมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีอำนาจในการลงทุนจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ได้สูงกว่า ก็ย่อมส่งผลให้อาจารย์แพทย์ถูกดึงตัว แล้วโรงพยาบาลก็จะไปดึงตัวแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดเป็นทอดๆไปเป็นลูกโซ่ ทำให้ระบบภาครัฐที่ขาดแคลนอยู่แล้วยิ่งขาดแคลนยิ่งขึ้น”นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความชัดเจนในนโยบายเมดิคอลฮับยังว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่ภาคเอกชนก็สามารถดำเนินการเมดิคอลฮับเติบโตและนำรายได้เข้าประเทศได้ เพียงแต่ภาครัฐช่วยในเรื่องสิทธิประโยชน์ในเรื่องการลงทุนเท่านั้น ใน ส่วนของความไม่ชัดเจนคือ ประเด็นที่ว่าภาครัฐจะพัฒนาให้สถานพยาบาลของภาครัฐเป็นเมดิคอลฮับด้วยหรือ ไม่ หากมีแนวทางเช่นนี้ก็จะสร้างผลกระทบกับผู้ป่วยที่เป็นคนไทยได้รับความเดือด ร้อนอย่างมาก
“ส่วน กรณีที่จะให้แพทย์ต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย องค์การอนามัยโลกเคยมีการถกเถียงกันในประเด็นใกล้เคียงที่แพทย์ชาว ฟิลิปปินส์จะเข้าไปรักษาคนไข้ที่สหรัฐอเมริกาด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ ค่าตอบแทนถูกกว่า ฯลฯ อีกทั้งแพทย์ที่จบจากต่างประเทศอาจไม่ตรงกับความต้องการของคนในประเทศนั้นๆ จึงต้องไปรักษาในประเทศที่มีความต้องการแพทย์ในสาขาวิชาที่จบมา ขณะเดียวกันทำให้ประเทศต้นทางขาดแคลนแพทย์หนักยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ต้องกลับมาพิจารณาในประเด็นนี้ด้วยว่า แก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แต่กลับมีปัญหาเรื่องขาดแคลนแพทย์”นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
ขณะที่ นพ. วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หากจะมีการอนุญาตให้แพทย์ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพื่อรักษาคนไข้ ต่างชาติรองรับนโยบายเมดิคอลฮับนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ จะต้องมีการวางแผนกำหนดกรอบปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนด้วย เช่น การกำหนดระยะเวลาใบประกอบวิชาชีพสำหรับแพทย์ต่างชาติที่จะให้เข้ามาทำงานใน ประเทศไทยได้ ในช่วงเวลาที่ไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ เมื่อสามารถผลิตแพทย์ได้เพียงพอหรือแก้ปัญหาระบบขาดแคลนบุคลากรได้ก็ให้กลับ ประเทศไป