นักวิจัย ชี้ อีก 2 ปี ไทยไม่มีลูกหลานดูแลคนแก่ ต้องการเกือบ 5 แสนคน ขณะที่ต้องการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุเพิ่มกว่า 6.6 หมื่นคน ส่วนพยาบาลต้องการ 2.3 หมื่น นักจิตวิทยาคลินิกขาดร่วม 1.3 คน จี้รัฐประกาศเป็นวาระแห่งชาติ รณรงค์ให้คนไทยตื่นตัว วางแผนพลังคนให้สอดคล้องความต้องการ
วันที่ 30 ตุลาคม ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นต่อประเด็นนโยบาย เรื่อง “ระบบการดูแลและกำลังคนในการดูแลผู้สูงอายุ” โดยดร.นงลักษณ์ พะไกยะ นักวิจัยสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นำเสนอเรื่อง “ความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพในการดูแลผู้สูงอายุ” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 6,705,061 คน แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการว่า ในปี 2553 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 7,639,000 คน หรือ 11.5% ของประชากรทั้งประเทศ แยกเป็นผู้ที่ดูแลตนเองได้ 7,139,127 คน และผู้ที่ต้องการคนดูแล 499,873 คน ซึ่งในการจัดระบบบริการสำหรับผู้สูงอายุ กำลังคนที่จะเข้ามาดูแลผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
ดร.นงลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2553 มีความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพในการดูแลผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.กำลังคนที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ กำลังคนในครอบครัวและญาติ ต้องการ 499,873 คน แต่ประชากรวัยเด็กแรกเกิด-14 ปี ลดลงอย่างรวดเร็ว ในอนาคตบุตรที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุจะเริ่มขาดแคลน เนื่องจากการอพยพแรงงานจากชนบทเข้าเมือง และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ มีความต้องการมากถึง 71,410 คน ปัจจุบันมีเพียง 4 พันคน ต้องเพิ่มอีกกว่า 66,000 คน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องให้ความสำคัญและเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังมากขึ้น
ดร.นงลักษณ์ กล่าวด้วยว่า 2.กำลังคนที่เป็นทางการ ได้แก่ พยาบาล มีความต้องการ 23,888 คน ขณะที่ปัจจุบันผลิตพยาบาลเพิ่มได้เพียงปีละ 6,000 คน นักจิตวิทยาคลินิกมีจำนวนเพียง 230 คนทั้งประเทศ ทั้งที่ มีความต้องการถึง 1,528 คน ยังขาดแคลนอีกราว 1,298 คน นักกายภาพบำบัดมีความต้องการ 2,499 คน ซึ่งกำลังคนที่มีประมาณ 4,300 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความต้องการเพียง 2,499 คน ขณะนี้มีถึง 30,441 คน
“จากการคาดการณ์ความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพสำหรับให้บริการผู้สูงอายุในปี 2553 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จะพบว่ายังมีไม่เพียงพอและถือว่าขาดแคลน รัฐจึงควรประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนัก ตื่นตัวในการดูแลผู้สูงอายุ และรัฐวางแผนการผลิตกำลังคนด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาล ที่ปัจจุบันประสบภาวะขาดแคลน หากอนาคตจะต้องจัดสรรมาดูแลเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุจะยิ่งทำให้พยาบาลขาดแคลนมากขึ้น จึงควรสนับสนุนให้มีการผลิต พนักงานผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งใช้งบประมาณน้อยและเวลาในการผลิตสั้นเพียง 2 ปี จะสามารถผลิตได้มากกว่าพยาบาล จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระงานของพยาบาลที่จะต้องมาดูแลผู้สูงอายุได้ระดับหนึ่ง” ดร.นงลักษณ์ กล่าว