สปสช.นำร่องโครงการบัตรคนไทยใบเดียว ใน 5 จังหวัด นครนายก อ่างทอง สระบุรี สงขลา ยโสธร ตั้งงบ 15 ล้านบาท พัฒนาความพร้อมเพื่อดูแลประชาชนมีสิทธิบัตรทองกว่า 2 ล้านคน คาดเริ่มให้บริการมี.ค.นี้
จากกรณีที่นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีแนวนโยบายที่จะดำเนินโครงการบัตรคนไทยใบเดียว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่มีสิทธิรักษาพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือผู้ป่วยบัตรทอง เข้ารับบริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในจังหวัดได้ทุกแห่ง โดยใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นในการใช้บริการสาธารณสุข และจะนำร่องใช้อย่างน้อยภูมิภาคละ 1 จังหวัดภายในปี 2552 นั้น
วันที่ 13 มกราคม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะมีการนำร่องโครงการบัตรคนไทยใบเดียว ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครนายก จำนวน 167,366 ราย อ่างทอง จำนวน 194,291 ราย สระบุรี จำนวน 426,983 ราย สงขลา จำนวน 1,011,316 ราย และยโสธร 424,140 ราย รวมผู้มีสิทธิบัตรทองใน 5 จังหวัดประมาณ 2,224,096 ราย คาดว่าโรงพยาบาลในพื้นที่ดังกล่าวจะพร้อมเริ่มให้บริการได้ภายในเดือนมีนาคมนี้
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า การเลือก 5 จังหวัดนี้เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากโรงพยาบาลในพื้นที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลและทะเบียนราษฎร์ โดยสามารถป้อนข้อมูลเลขประจำตัว 13 หลักเข้าระบบออนไลน์และรู้ได้ทันทีว่าผู้ป่วยแต่ละคนมีสิทธิรักษาพยาบาลเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบสวัสดิการข้าราชการ หรือประกันสังคม ขณะเดียวกันแต่ละโรงพยาบาลสามารถออนไลน์ข้อมูลผู้ป่วยถึงกันได้หมด รวมถึง เจ้าหน้าที่ทะเบียนมีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบข้อมูลและประชาชนในแต่ละจังหวัดมีบัตรประชาชนเป็นแบบสมาร์ทการ์ดราว 1 ใน 3 ของประชาชนทั้งหมด
“หากประชาชนมีบัตรประชาชนเป็นแบบสมาร์ทการ์ดจะช่วยให้ตรวจสอบสิทธิได้ง่ายขึ้น แต่หากเป็นเด็กหรือประชาชนที่ยังไม่มีบัตรชนิดนี้ ก็สามารถใช้เพียงเลข 13 หลักในการตรวจสอบได้ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการปรับฐานข้อมูลสิทธิผู้ป่วยใน 5 จังหวัดนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้ตั้งงบฯราว 15 ล้านบาท สำหรับใช้ในการดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลของโรงพยาบาลใน 5 จังหวัดให้มีความพร้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มเติมระบบเทคโนโลยีของโรงพยาบาล ระบบตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลอัตโนมัติ และอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมมากขึ้น อนาคตอาจมีการปรับปรุงให้สถานีอนามัยสามารถออนไลน์ข้อมูลกับโรงพยาบาลในพื้นที่ได้ด้วย”นพ.วินัยกล่าว
ด้านนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวว่า โครงการบัตรคนไทยบัตรเดียวสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องศึกษาวิจัยอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากระบบทะเบียนราษฎรเลข 13 หลักของคนไทย ผูกกับสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยทั้ง 63 ล้านคนอยู่แล้ว อีกทั้ง เทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาดีขึ้น ประกอบกับโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีฐานข้อมูลสิทธิผู้ป่วยอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องวางมาตรฐานให้ฐานข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยอาจไม่ต้องลงทุนมาก แต่หากเป็นสถานีอนามัยที่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี จำเป็นต้องมีการลงทุนเช่นกัน
“เป็นเรื่องดีที่จะช่วยสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนในการเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว แต่ระบบการรักษาพยาบาลทั้ง 3 ระบบ จะต้องอาศัยการบริหารจัดการและมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสปสช.ดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ หากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ดำเนินการ ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้”นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว