เจ้าของ-ควาญช้างครวญ ถูก กทม.กวาดล้างหนักทำขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว เรียกร้อง อบจ.สุรินทร์ ประสาน กทม.ของบส่งช้างคืนถิ่น ขณะที่ กทม.แจงประสานรัฐเข้าช่วยเหตุ กทม.เอางบออกนอกพื้นที่ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการช้างยิ้มเพื่อแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนในพื้นที่ กทม.โดยการปฏิบัติการ “จับ ปรับ ยึด” อย่างเข้มข้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดนายธงชัย มุ่งเจริญพร นายกองค์การส่วนบริหารจังหวัดสุรินทร์ (อบจ.สุรินทร์) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ขณะนี้ช้าง จ.สุรินทร์ 169 เชือกได้เดินทางมารวมตัวกันที่ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เพื่อประชุมหารือแนวทางการเคลื่อนไหวหลังจากได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากการถูกกวาดล้างตามโครงการช้างยิ้มของ กทม. ทำให้ขาดรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวหรือแม้แต่ช้างที่เลี้ยงไว้ ทั้งนี้ กลุ่มควาญ-เจ้าของช้างทั้ง 169 เชือกเรียกร้องให้ อบจ.สุรินทร์ประสานกับ กทม.ในการสนับสนุนงบประมาณรับช้างเข้าโครงการ “ช้างคืนถิ่น พัฒนาบ้านเกิด” ทั้งหมด หลังจากที่รับเข้าโครงการแล้ว 65 เชือก ซึ่งทาง อบจ.ดูแลโดยจ่ายเงินเดือนให้เดือนละ 8,000 บ./เชือก แทนที่การจับช้างไปกักตัวที่อื่นซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาหรือบ้านเกิด อันเป็นการแยกครอบครัวทั้งของคนและช้าง อีกทั้งส่วนใหญ่ยังมองว่ากทม.ขาดการวางแผนรองรับที่ดีและมุ่งเน้นการไล่จับเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ กลุ่มควาญ-เจ้าของช้างยังได้เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายบัญญัติให้ช้างเป็นสมบัติของชาติและควาญช้างเป็นพนักงาน (เลี้ยงช้าง) ของรัฐ เพื่อให้มีความมั่นคงในชีวิตด้วย ซึ่งผลสรุปการประชุมและข้อเสนอทั้งหมดทางกลุ่มจะยื่นต่อนาย วิเชียร ชวลิต ผู้ว่าฯ จ.สุรินทร์ ดำเนินการแจ้งไปยังรัฐบาลส่วนกลางโดยเร็วที่สุด
“ก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มควาญ-เจ้าของช้างได้เตรียมเคลื่อนขบวนนำช้างมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลแต่ทางเราได้ขอร้องให้ยุติการเคลื่อนไหวดังกล่าวเนื่องจากกังวลว่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในพื้นที่ กทม. เพราะแค่นี้เขาก็รังเกียจเราจะแย่อยู่แล้ว และเราก็รับปากว่าจะเป็นคนกลางทำหน้าที่ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้โดยเร็วที่สุด ส่วนเรื่องของการรับช้างเข้าโครงการช้างคืนถิ่นฯ นั้นจากที่ได้พูดคุยกับกทม.เบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่ายคงไม่มีงบฯ รองรับ จึงต้องเรียกร้องทางรัฐบาลให้ช่วยตรงจุดนี้” นายธงชัยกล่าว
ด้านนาย ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งรับผิดชอบโครงการช้างยิ้ม กล่าวชี้แจงถึงประเด็นด้านแผนการรองรับช้างเร่ร่อนว่า กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด และขณะนี้อยู่ระหว่างการขอเข้าพบ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ซึ่งดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอให้ช่วยเหลือเรื่องการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ช้างและควาญช้างอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม กทม.เป็นเพียงพื้นที่ปลายทาง จะให้ปลายทางรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพทุกเรื่องคงไม่ถูกต้องนัก พื้นที่ต้นทางต้องมีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาด้วย ตั้งแต่กระทรวงทรัพย์ฯ อบจ.สุรินทร์ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ให้ช่วยหาทาง หรือแม้แต่รัฐบาลที่ต้องอัดฉีดงบประมาณให้ทุกหน่วยงานทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะตามหลักการ กทม.ไม่สามารถใช้เงินงบประมาณนอกพื้นที่ได้อยู่แล้ว