xs
xsm
sm
md
lg

สธ.มึน! 5 กลุ่มเสี่ยงใช้วัคซีน 09 ไม่ได้ ต้องใช้วัคซีนเชื้อตายซึ่งมีไม่พอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
“วิทยา” ผลักดันวัคซีนเป็นวาระชาติ เพิ่มงบวิจัยพัฒนาผลิตวัคซีนเป็นร้อยละ 1 ของจีดีพี เพื่อผลิตใช้เองในประเทศ เครียดวัคซีนเชื้อตายไม่พอสำหรับกลุ่มเสี่ยงหาวิธีบริหารจัดการ เตรียมแผนวิจัยผลิตวัคซีนเชื้อตายใช้ในประเทศ แก้ปัญหาวัคซีนเชื้อเป็นมีข้อยกเว้นเด็กต่ำกว่า 2 ปี ผู้ใหญ่ 49 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ คนมีโรคระบบหายใจ แพ้ไข่ใช้ไม่ได้

วันนี้ (13 ส.ค.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ว่า ปัจจุบันเกิดโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ การศึกษาวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนเพื่อความมั่นคงของประเทศมีความจำเป็น จึงเตรียมที่จะหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้การวิจัยและพัฒนาวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ โดยเตรียมงบประมาณสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) จากเดิมร้อยละ 0.2 ของจีดีพี

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนมาพร้อมกับประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศสามารถผลิตวัคซีน เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศแล้ว ขณะที่ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาเห็นว่าการผลิตวัคซีนเองเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณจึงเน้นการสั่งซื้อเป็นหลัก” นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มีข้อกังวลของนักวิชาการเนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเชื้อเป็นแบบพ่นที่องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตนั้น ไม่สามารถให้กับกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม คือ บุคคลที่แพ้ไข่ทุกชนิด ผู้ที่มีโรคประจำตัวระบบทางเดินหายใจ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ และบุคคลที่มีอายุมากกว่า 49 ปี ขึ้นไป ซึ่งในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเชื้อตายที่ขณะนี้ไม่เพียงพอกับความต้องการ และไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าวเพิ่มได้ ซึ่งขณะนี้ได้ประสาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนาผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเชื้อตายขึ้นใช้เอง

“วัคซีนเชื้อตาย 1 ล้านโดส คงไม่เพียงพอกับประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะไทยยังไม่สามารถผลิตเองได้ ซึ่งการที่ไทยสามารถจองวัคซีนได้เพราะอภ.มีบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถซื้อได้ดังนั้น จะต้องหาวิธีบริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ให้เพียงพอ” นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ.ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว เพื่อประเมินสถานการณ์และจับตาว่ามีพื้นที่ใดที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่มากให้รายงานทันทีและดูแลเป็นพิเศษด้วย

ด้าน นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เกณฑ์การพิจารณาให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะต้องมีการประชุมพิจารณาอีกครั้งสำหรับการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เชื้อเป็นและไข้หวัดใหญ่เชื้อตาย อย่างไรก็ตาม ตามหลักการควรให้วัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยงก่อน ได้แก่ บุคลกรทางการแพทย์และสาธารณสุข หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งในรายละเอียดจะต้องมีการกำหนดอีกว่า ใครควรได้รับวัคซีนชนิดไหน

“อย่างในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หากไม่ได้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคติดเชื้อ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องก็สามารถให้วัคซีนจากเชื้อไวรัสเป็นได้ เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ บางกลุ่มก็สามารถให้วัคซีนเชื้อเป็นได้ แต่หากเป็นกลุ่มที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลถือว่ามีความเสี่ยงก็ต้องได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายเท่านั้น รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ในไตรมาศที่ 2 หรือ อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป ก็ต้องให้วัคซีนเชื้อตายอย่างแล้ว ส่วนการที่ระบุว่าผู้ที่อายุ 49 ปีขึ้นไป ไม่สามารถใช้วัคซีนเชื้อเป็นได้นั้น ข้อมูลล่าสุดในการวิจัยในต่างประเทศขณะนี้ มีข้อมูลเพียงเท่านี้ แต่หากมีการศึกษาวิจัยต่อได้ข้อมูลใหม่ๆ ในอนาคตเพิ่มขึ้นอาจใช้วัคซีนเชื้อเป็นกับบุคคลอายุ 49 ปีขึ้นไปก็เป็นได้ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโรคในขณะนั้นด้วย” นพ.จรุง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น