xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” ซัดข่าว จนท.สธ.ป่วยโคมลอย ลั่นใครป่วยก็หยุด พร้อมวอนคลินิกร่วมจ่าย “โอเซลทามิเวียร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข
สธ.ขอความร่วมมือจากคลินิกรับจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ ร่วมรับผิดชอบสังคม หลังคลินิกใน กทม.เข้าร่วมน้อย หวังคลินิกในต่างจังหวัดขานรับนโยบาย สธ.“วิทยา” ชี้ หมอในกระทรวงป่วยแค่ข่าวลือ ย้ำป่วยให้หยุด ลั่นประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหวือหวา แต่ไม่เกิดประโยชน์

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ผ่านทางคลินิกเอกชนในกรุงเทพฯ ที่มีคลินิกเพียง 31 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพสร้างแนวทางการรักษาและควบคุมไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ว่า ไม่รู้สึกกังวล เพราะขณะนี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่าง สธ.ทำความเข้าใจบุคลากร แต่เข้าใจว่า สาเหตุที่คลินิกไม่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมองว่าเป็นการเพิ่มภาระความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ถือเป็นภาระทางสังคม ที่จะมุ่งทำงานหาเงินอย่างเดียวไม่ได้ หากไม่รับผิดชอบต่อสังคมก็ลำบาก อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ เป็นเพียงการขอความร่วมมือ หากคลินิกใดไม่มีความพร้อม และไม่สมัครใจ ก็จะไม่มีการบังคับ ซึ่งคลินิกในกรุงเทพฯ ที่สมัครเข้าโครงการจ่ายยาต้านไวรัส ในวันที่ 3 ส.ค.ได้เริ่มจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแล้ว

นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับคลินิกในต่างจังหวัด ได้การขานรับดีกว่าคลินิกในกรุงเทพฯ ขณะนี้เริ่มมีสมัครเข้าโครงการจ่ายยาต้านไวรัสกับ สธ.แล้ว ซึ่งมีบางจังหวัดมีคลินิกเข้าร่วมโครงการถึงร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นคลินิกที่อยู่ในเขตเทศบาล ทั้งนี้ แพทย์คลินิกในต่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐอยู่แล้ว ที่มีความเข้าใจแนวทางการรักษาดีหากไม่จ่ายยาก็สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลได้ ซึ่งในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ เวลา 14.00 น.ตนจะประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกคน เพื่อประเมินสถานการณ์ความพร้อมของคลินิกในต่างจังหวัด หากพื้นที่ใดพร้อมก็สามารถกระจายยาได้ทันที รวมถึงหารือเรื่องการจ่ายยาต้านไวรัสในกลุ่มผู้ป่วยเด็กด้วย

“ขอความร่วมมือคลินิกทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการรุนแรง ให้แนะนำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งหากคลินิกส่วนใหญ่เข้าใจแนวทางนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมายาสำรอง เพราะเป้าหมายหลัก คือ ต้องการลดการเสียชีวิต ประชาชนเข้าถึงยาให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ สธ.ยังได้ขอความร่วมมือร้านขายยา หากมีผู้ป่วยมาซื้อยามีไข้สูงให้แนะนำไปโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน” นายวิทยา กล่าว

**“วิทยา” ชี้หมอในกระทรวงป่วยแค่ข่าวลือ ย้ำป่วยให้หยุด

นายวิทยา กล่าวถึงกรณีแพทย์ใน สธ.ป่วยเป็นไข้หวัดไม่ยอมหยุดอยู่บ้าน ว่า เป็นการพูดแบบข่าวลือ ส่วนตัวไม่เชื่อว่า แพทย์ที่มีอาการป่วยจะมาทำงาน เพราะส่วนใหญ่เมื่อไม่สบายก็อยากหยุดอยู่บ้าน แต่หากพบว่ามีข้าราชการคนใดของ สธ.ป่วย แล้วยังมาทำงาน ตนคงไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไป ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงอย่างแน่นอน ซึ่งปัญหานี้ ตนได้หารือกับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์มติคณะรัฐมนตรีให้หยุดอยู่บ้านได้ 5-7 วัน โดยไม่นับเป็นวันลา โดยให้กรมประชาสัมพันธ์เร่งทุกต้นชั่วโมง

“ส่วนภาคเอกชน ถ้าบริษัท ห้างร้านใด ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมให้พนักงานหยุดงาน สามารถร้องเรียนมายัง สธ.ได้ จะช่วยเจรจาทำความเข้าใจให้ นอกจากนี้ จะหารือกับ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ช่วยประชาสัมพันธ์มติ ครม.นี้ด้วย เพราะเป็นความร่วมมือทางสังคม จะเห็นแก่ผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ และหากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม มีผู้ป่วยแล้วไม่หยุดงาน คาดว่า ไม่เกิน 2 สัปดาห์จะต้องปิดหยุดกิจการเพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก” นายวิทยา กล่าว

ต่อมาเวลา 11.00 น.ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ นายวิทยา ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่มีอาการหนัก จำนวน 3 ราย โดย นายวิทยา กล่าวภายหลังว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย มีอาการไข้หวัด แต่ต้องผลตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ครบทั้ง 3 รายแล้ว โดยรายที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ สันนิษฐานว่าจะติดเชื้อจากบิดา ซึ่งป่วยอยู่ก่อนแล้ว และมารักษาตั้งแต่เริ่มป่วย ขณะนี้ทานยาต้านไวรัสครบชุดรักษาแล้ว ไม่มีไข้ แต่ยังมีอาการไออยู่เล็กน้อย มั่นใจว่า ผู้ป่วยรายนี้จะหายเป็นปกติ และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายอายุประมาณ 51 ปี ไข้สูง ปอดบวม และผู้ป่วยรายที่ 3 เป็นหญิง อายุ 72 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค มาพบแพทย์ด้วยอาการป่วยของโรคประจำตัว ทั้ง 2 รายอาการยังน่าเป็นห่วง
โอเซลทามิเวียร์
**ชี้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหวือหวาแต่ไม่เกิดประโยชน์

นายวิทยา กล่าวถึงกรณีที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี เสนอให้ประกาศ จ.ราชบุรี เป็นเขตภัยพิบัติที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หลังจากมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด รองจากกรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน และไม่ทราบข้อมูลว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจในประกาศและเมื่อประกาศแล้วจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์เรื่องใดเพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้โดยรวมทั้งประเทศยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องประกาศเป็นภัยพิบัติ เนื่องจากบางจังหวัดยังมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก บางจังหวัดแม้มีผู้ป่วยจำนวนมากแต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

“การประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติของโรคเป็นแค่เรื่องหวือหวา ซึ่งเมื่อประกาศแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีมาตรการเรื่องใดมารองรับการดำเนินงาน ส่วนการจะจำเป็นที่ต้องประกาศหรือไม่จะต้องพิจารณาอีกครั้ง ไม่ใช่มุ่งแต่ทำให้เกิดความหวือหวาเท่านั้น”นายวิทยา กล่าว

ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ใน จ.ราชบุรี ดีขึ้น เริ่มควบคุมการระบาดของโรคได้ หลังจากมีการปรับมาตรการในการดูแลรักษา ซึ่งพบว่าอัตราการป่วยลดลง จึงไม่น่าจะถึงขั้นประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแต่อย่างใด โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการสรุปสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่จ.ราชบุรี อีกครั้งหนึ่ง

**คลินิกที่ จ.ราชบุรี จ่ายยาให้ผู้ป่วยแล้ว 42 คน

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม คลินิกเอกชนใน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องจ่ายยาต้านไวรัสให้กับผู้ป่วย ได้จ่ายยาต้านไวรัสให้ประชาชนแล้วจำนวน 42 ชุดรักษา หรือผู้ป่วย 42 คน จากคลินิก 16 แห่ง แบ่งเป็น คลินิกในอำเภอเมือง จ่ายยาให้ผู้ป่วย 16 คน คลินิกในอำเภอบ้านโป่ง จ่ายยาให้ผู้ป่วย 25 คน และคลินิกในอำเภอโพธาราม จ่ายยาให้ผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยที่ได้รับยา มีอาการดังนี้ มีไข้สูงมาแล้ว 48 ชั่วโมงไข้ยังไม่ลด จำนวน 4 ราย ไข้สูง ไอ หอบรุนแรง 18 ราย มีไข้อ่อนๆ 2 ราย มีโรคประจำตัว หอบหืด 7ราย ส่วนอีก 11 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล และยังไม่มีผู้ป่วยรายใดเสียชีวิต

“คลินิกใน จ.ราชบุรี ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเข้าโครงการรับยาต้านไวรัสของ สธ. เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 เป็นแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐอยู่แล้ว จึงมีความรู้ ความเข้าใจโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ดีพอสมควร มีความเชี่ยวชาญ จึงไม่มีปัญหาเหมือนอย่างคลินิกในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยาจากคลินิกในจ.ราชบุรีถือว่าเป็นการช่วยลดภาระงานของโรงพยาบาลได้มาก คลินิกช่วยเก็บตกผู้ป่วย” นายมานิต กล่าว

**“มานิต” ยันไม่จำเป็นประกาศ จ.ราชบุรี เป็นเขตภัยพิบัติ

นายมานิต กล่าวกรณีที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี เสนอให้ประกาศให้ จ.ราชบุรี เป็นเขตภัยพิบัติที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หลังจากมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด รองจากกรุงเทพฯ ว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ และขอตรวจสอบข้อมูลก่อน ส่วนตัวคิดยังไม่จำเป็น เพราะการระบาดแพร่ไปทั่วประเทศอยู่แล้ว และการประกาศจังหวัดภัยพิบัติ มีขั้นตอนดำเนินงานมาก ต้องหารือหลายหน่วยงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น