xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! หวัด 2009 แพร่เร็ว 2-8 สัปดาห์เขตเมืองเจ็บตายอีก ตจว.พุ่งใน 120 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประเสริฐ” ชี้ หวัด 2009 มีแนวโน้มรุนแรงกว่าหวัดตามฤดูกาล แพร่เร็ว 2-8 สัปดาห์ เขตเมืองจะป่วย-ตายอีก ส่วนต่างจังหวัดจะพุ่งสูงสุดอีก 60-120 วัน
แฟ้มภาพ
วันที่ 21 กรกฎาคม ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติ กล่าวภายหลังการหารือร่วมกันนานกว่า 4 ชั่วโมง ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในไทย พบว่า ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้า ประมาณ 6-8 วัน หลังจากมีอาการ ทั้งที่ควรมาพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้น เพื่อให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้ผลดีที่สุด
 
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบว่า ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบเพิ่มมากขึ้น ดูเหมือนว่า ความรุนแรงของโรคมีแนวโน้มสูงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล รวมถึงการที่ผู้ป่วยมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้การรักษาภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมีคุณภาพลดลง อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการชัดเจนว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีความรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูการจริง จึงต้องทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดต่อไป

“เราไม่ได้เสนอข้อมูลเพื่อเกิดการตื่นตระหนก แต่สิ่งที่นำมาหารือเพื่อเป็นฐานในการคิดเตรียมการในการระบาดต่อไป ว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่จะต้องเพิ่มเติมมาตรการใดหรือไม่ แต่ยอมรับเชื้อหวัด 2009 ว่า การแพร่กระจายจากคนสู่คนเร็วกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งหลังจากนี้ 2-8 สัปดาห์จะพบว่ามีผู้ป่วยและเสียชีวิตในเขตเมืองเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นขาขึ้นของการระบาด ในส่วนของในพื้นที่ต่างจังหวัดจะมีการระบาดสูงสุด ซึ่งแต่ละพื้นที่จะไม่พร้อมกัน แต่จะเกิดขึ้นในช่วง 60-120 วันหลังจากนี้”ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
แฟ้มภาพ
ชี้ สธ.ต้องเตรียมแผนรับมือ เพิ่มเครื่องช่วยหายใจ-เตียง
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า เสนอให้ สธ.วางแผนการจัดการทรัพยากรเพื่อดูแลผู้ป่วยในรายที่มีอาการหนัก โดยคณะกรรมการได้มอบหมายให้ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ เป็นประธานคณะทำงานในการวางแผนในการเตรียมรับมือทางการแพทย์ในการระบาดของโรคดังกล่าวในอนาคต โดยแบ่งเป็นระดับความรุนแรงว่า หากเพิ่มอยู่ในระดับใดจะต้องเตรียมเครื่องช่วยหายใจ แพทย์ทางด้านระบบทางเดินหายใจ จำนวนเตียง ห้องพักผู้ป่วย ฯลฯ จำนวนเท่าใดตามแต่ละสถานการณ์การระบาดแต่ละระดับในอนาคต

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้คณะทำงานชุดดังกล่าวจะต้องประเมินสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อ และแสดงอาการ จำนวนผู้ป่วยและ เสียชีวิต ผู้เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยนอกในสถานพยาบาล ฯลฯของไทย นำเสนอกลับมายังคณะกรรมการฯในสัปดาห์หน้า เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลในการเปรียบเทียบกับข้อมูลต่างประเทศ

“สธ.ควรวางแผนในรับมือกับทรัพยากรดูแลผู้ป่วยวิกฤตในอนาคต และแนะนำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรังต่างๆเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แม้ว่าจะไม่สามรถป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้แต่ในช่วงเวลานี้ก็มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอยู่”ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

ชี้ไทยยังข้อมูลน้อย สั่งทีมระบาดให้ตีโจทย์วิจัยเพิ่ม
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นักวิจัยชาวญี่ปุ่นพบว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างทั้งที่หวัดตามฤดูกาลจะอยู่ส่วนบน แค่จมูกและลำคอเท่านั้น องค์ความรู้ดังกล่าวต้องวิเคราะห์ของไทยเอง จะยึดถือของต่างประเทศไม่ได้ เพราะบริบทของประเทศไทยแลญี่ปุ่นต่างกัน ซึ่งการนำข้อมูลต่างประเทศมาเทียบเคียงอาจทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน

“คณะกรรมการจึงได้มีการให้ฝ่ายระบาดวิทยาตั้งโจทย์กับงานวิจัยเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ทั้งตามฤดูกาลและสายพันธุ์ใหม่ทั้งหมด และได้นำคำถามเหล่านี้ให้นักวิจัยศึกษาหาข้อมูล เพื่อเป็นฐานข้อมูลของประเทศ ซึ่งข้อมูลที่มีในไทยพบน้อยมาก” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น