xs
xsm
sm
md
lg

จับชีพจรชุดโขนไทย ปัดฝุ่นใหม่ฉบับกรมศิลป์(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุดหนุมานที่ใช้ออกแสดงชุดศึกพรหมมาศ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อพ.ศ.2550 ซึ่งไม่ใช่ชุดที่กรมศิลปากรปรับปรุง
รายงานพิเศษ โดย…กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

โขนเป็นมหรสพหลวงที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มหรสพหลวงเฟื่องฟูมาก แต่ตกต่ำอย่างที่สุดเมื่อสิ้นรัชกาล ครั้นต่อมา ในปี พ.ศ. 2478 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลให้โอนกองมหรสพ ไปขึ้นกับกรมศิลปากร ศิลปินโขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์ จึงย้ายสังกัดไปขึ้นอยู่กับกรมศิลปากรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนี้แล้วเครื่องแต่งกายโขนของกรมศิลปากรในปัจจุบันจึงได้รับอิทธิพลมาจากกรมมหรสพหลวงด้วยเช่นกัน


อย่างไรก็ตามเวลาที่เคลื่อนประกอบกับไม่มีการปรับปรุงชุดโขนเป็นเรื่องเป็นราว ระยะหลังความวิจิตรงดงามของเครื่องแต่งกายโขนจึงค่อยๆ เลือนไป เป็นเพียงงานเย็บหยาบ ที่วับแวมกลางแสงไฟเท่านั้น กระทั่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นห่วงว่าเครื่องแต่งกายโขนในยุคสมัยต่อไปจะไร้ความงดงาม และขาดผู้สืบทอดจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้กรมศิลปากรจัดทำเครื่องแต่งกายโขนที่เป็นแบบฉบับกรมศิลปากรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นการบูรณะปรับปรุงชุดเครื่องแต่งกายโขนใหม่อีกครั้งหลังจากร้างห่างมานาน
ลายปักที่กรมศิลปากรใช้ในการแสดงโขนปัจจุบันแบบเดิม กับแบบเขียนใหม่ที่ร่างโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร
** ความงามที่เปลี่ยนแปร
การุณ สุทธิภูล ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยที่ทำให้ชุดเครื่องแต่งกายโขนของกรมศิลปากรมีการเปลี่ยนแปลง เพราะเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1. ผู้รับจ้างเขียนที่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับกรมศิลปากรเขียนลาย และปักเอง อีกทั้งปัญหาสกุลช่างที่ปัจจุบันเหลือน้อยลงเต็มที ทำให้ลายปักมีความคลาดเคลื่อน 2.วัสดุที่ใช้ในการปักไม่เอื้ออำนวยเนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 3.ระยะเวลาที่เร่งรีบทำให้งานระยะหลังลวกขาดความละเอียด

“หากได้เห็นเครื่องแต่งกายสมัยเก่าที่การแสดงในยุคเฟื่องฟูนั้น เห็นได้ชัดว่าชุดมหรสพมีความสมบูรณ์งดงาม แต่มาพักหลังด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสกุลช่างที่ทำหน้าที่ปัก งบประมาณ และระยะเวลาอันเป็นข้อจำกัด ก็เลยทำให้เครื่องแต่งกายโขนออกมาในลักษณะที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน”

สุพรทิพย์ ศุภรกุล ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายพัสตราภรณ์ และเครื่องโรง อธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงปี 2499 เป็นต้นมาซึ่งมี “ธนิต อยู่โพธิ์” เป็นอธิบดีกรมศิลปากร เป็นเวลาที่การแสดงโขน-ละครเฟื่องฟูมาก มีการออกแสดงทั้งในและต่างประเทศ เครื่องแต่งกายจึงโขนจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จากปักลายเล็กละเอียดเปลี่ยนให้มีลายเขียนและปักให้ใหญ่ขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ทำการแสดงเร่งด่วนได้ได้ทันและมองเห็นได้ในที่ไกล กระนั้นวิชาช่างเขียน ช่างปัก ลวดลายความสวยงามยังคงอยู่แบบโบราณ
 
“ถือว่าอธิบดีธนิตเป็นผู้เปลี่ยนแปลงคนสำคัญเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปักให้มีลายใหญ่ขึ้น แต่วิชาช่างที่สวยงามอยู่ ตั้งแต่นั้นก็มีการก็อปปี้ลายมาตลอด แต่การส่งต่อทำให้การส่งสารคลาดเคลื่อน เพื้ยนจากลายนาคมาเป็นงูเขียว เป็นลายใหม่ที่ไม่มีสกุลขึ้นมา” ผู้ช่วยหัวหน้าพัสตราภรณ์และเครื่องโรง ให้ภาพ
อินทรธนู ที่ตกทอดจากกรมมหรสพหลวง
** สกุลช่างที่เกือบสูญ
ผู้อำนวยการกองการสังคีตบอกว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีช่างปักที่รับจ้างเหมาทำชุดเครื่องแต่งกายโขนอย่างเพียงพอก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาจนสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถมีพระราชเสาวนีย์ให้ปรับปรุงรูปแบบนั้น ส่วนหนึ่งมาจากช่างขาดทักษะวิชาช่างปักอย่างลึกซึ้ง หรือสกุลช่างเก่าแก่เริ่มหายไปนั่นเอง ซึ่ง สุพรทิพย์ ศุภรกุล บอกว่า วิชาช่างปักเรียกได้ว่าเป็นวิชาช่างชั้นสูง เป็นงานที่มหัศจรรย์หากได้คลุกคลีใกล้ชิดจะเข้าใจว่าไม่ใช่งานที่ควรดูถูก เพราะงานฝีมือเป็นงานที่จะใช้ความวิจิตร ลายปักต้องพลิ้วตามแนวเส้นเขียน คนที่เป็นช่างปักต้องอ่านงานเขียนออกและเอาใจไปใส่ในลายนั้นๆ ว่าคนเขียนลายมีจินตนาการ อารมณ์ อย่างไร แต่สำหรับช่างปักที่พบในบ้านเราส่วนใหญ่ขาดความรู้ด้านงานเขียน มีหน้าที่ปักอย่างเดียว ปักอย่างไรก็ได้ให้เต็มลาย ซึ่งปรากฏในชุดเครื่องแต่งกายโขนในปัจจุบัน

“คนปักไม่มีความรู้เรื่องงานเขียน งานปักออกมาจึงไม่มีรูปแบบหรือความสวยงาม เมื่อเห็นลายปักไม่เป็นเลยปักให้เสร็จๆ เต็มๆ ไป ลายก็จะเพี้ยน ลายพญานาคก็กลายเป็นงูเขียวหรือหนอนไป ตัดรายละเอียดออกเพราะตัวเองไม่มีความรู้ ลายจึงถูกทอนหายไป และส่วนใหญ่เราไม่ได้มีการทำนุบำรุงหรือฟื้นฟูวิชาช่างปักอย่างจริงจัง สำนักการสังคีตขาดการฟื้นฟูช่างปัก มีคนทำงานแต่ไม่มีความรู้วิชาช่าง ใช้ครูพักลักจำ ซึ่งถูกบ้างผิดบ้าง เป็นเช่นนี้เสมอมา”

ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายพัสตราภรณ์ ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า เป็นที่น่าเสียดายที่กรมศิลปากรไม่มีตำแหน่งสำหรับช่างปักโดยเฉพาะ และคนที่ทำงานในวันนี้คือคนที่สนใจ เป็นศิลปินที่สนใจละคร หรือคนที่มีหน้าที่ตัดเย็บเสื้อผ้าเท่านั้น คนที่มีทักษะก็อายุมาก มีปัญหาสุขภาพ แต่เด็กรุ่นใหม่ยังห่างไกลการเป็นช่างนัก

“ก็รอว่าเมื่อไหร่ผู้ใหญ่จะเห็นความสำคัญของวิชาช่างปัก เพราะน่าเสียดายว่าเราไม่มีผู้สืบทอดอย่างจริงจัง ถ้าเราได้เด็กที่สนใจ มีฝีมือ อดทน จะได้งานมีคุณค่า คนนอกเขาก็จะมีปัญหาที่ว่าถ้ามีอาชีพที่ทำเงินให้เขาได้เยอะกว่าเขาก็จะทิ้งงานตรงนี้ ไปประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเอง เพราะรายได้ไม่พอถ้าปักอย่างเดียว นั่งปักจริงๆ ปักนานไม่ได้ จะมีปัญหาสุขภาพ เราอยากปลูกฝังให้เด็กรักในงานแบบนี้เชื่อว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมา” สุพรทิพย์ สรุป

(อ่านตอนจบ วันพรุ่งนี้)
กำลังโหลดความคิดเห็น