xs
xsm
sm
md
lg

คนพิการต้นแบบ…ชีวิตนี้ไม่มีคำว่า “แพ้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ โดย….สุกัญญา แสงงาม

จากตัวเลขผู้พิการในประเทศไทย ที่มีประมาณ 1.9 ล้านคน ย่อมบ่งบอกให้ทราบว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันภาคสังคมจะเปิดรับผู้พิการมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้พิการอีกจำนวนไม่น้อยที่ชีวิตในแต่ละวันหมดไปกับการนั่งอยู่กับความท้อแท้ หมดหวังกับสภาพร่างกายของตัวเอง

ภพต์ เทภาสิต
สิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนความท้อให้กลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้ง ก็คงต้องอาศัยแบบอย่างจาก “คนผู้พิการต้นแบบ” ที่ไม่ยอมก้มหน้าให้กับอุปสรรคแห่งชีวิต มาช่วยปลุกความหวังให้เกิดขึ้น...

“ภพต์ เทภาสิต”อายุ 40 ปี ช่างเป่าแก้ว จากกลุ่มอาชีพอิสระคนพิการ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หนึ่งในคนพิการต้นแบบ ย้อนอดีตของการลุกขึ้นสู้ว่า ปี 2536 ในช่วงวัยเบญจเพส ตนเองได้ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ซึ่งส่งผลให้กระดูกสันหลังหัก ทำให้กล้ามเนื้อช่วงล่างไม่มีความรู้สึกใดๆ ตอนนั้นหน้าที่การงานก็กำลังไปได้ด้วยดี จากพนักงานบริษัทอุตสาหกรรมสีทาเครื่องบินจากอเมริกาที่มีรายได้ต่อเดือนเมื่อรวมกับงานพิเศษต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ก็จบลงเพราะต้องออกจากงาน

“ตอนนั้นเริ่มมีทัศนคติไม่ค่อยดี รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไร้ความสามารถ จนเก็บตัวเงียบ ไม่พูด ไม่มองหน้าใคร ไม่สนใจสังคมคนรอบข้าง แต่หลังจากที่เห็นว่ายังมีคนพิการที่ทุกข์ยาก ลำบากกว่าเราอีกมาก ซึ่งตัวเองก็ยังพอทำอะไรได้แล้วจะมานั่งปิดตัวเองทำไม จึงได้เข้ามาอบรมฝึกอาชีพคนพิการ ตอนนั้นเรียนปั้นแป้ง นำไปขายได้ชิ้นละ 10-20 บาท สร้างรายได้ไม่น้อย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่กลุ่มอาชีพอิสระคนพิการ จ.นนทบุรี อย่างเต็มตัว โดยพยายามเรียนรู้มาหลายอาชีพจนมาลงตัวที่ผลิตภัณฑ์เป่าแก้ว และตอนนี้ก็เป็นอาจารย์สอนเป่าแก้วให้แก่ผู้พิการ และคนทั่วไปในที่สุด” ภพต์ ให้ภาพ

ภพต์ ยังบอกอีกว่า ผู้พิการทุกคนคงมีความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อต้องมานั่งนึกถึงความหลัง แต่ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ ก็จงอยู่อย่างมีคุณค่า เห็นความสำคัญของชีวิตตนเองให้มากที่สุด ทุกคนมีความสามารถ มีพรสวรรค์ที่แตกต่างกัน ตรงนึ้หากเราสู้ เอาใจใส่กับมันเชื่อว่าจะกลับมายืนในสังคมเหมือนคนปกติได้อีกครั้ง

เช่นเดียวกับ “ต่าย - อรุณวดี ลิ้มอังกูร” อายุ 35 ปี ที่ร่วมสะท้อนภาพในอดีตด้วยว่า ได้รับอุบัติเหตุจากรถชนเมื่อปี 2539 เป็นผลให้ต้นคอหัก ทำให้ประสาทในเรื่องของระบบขับถ่ายสูญเสียไป มือไม่มีแรง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จนกลายมาเป็นคนพิการตั้งแต่นั้นมา แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือ ก่อนที่จะเกิดเหตุตนเพิ่งคลอดลูกมาได้ 4 เดือน ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนั้น ได้กระชากอนาคตที่สดใสในชีวิตครอบครัวไปจนหมด ทั้งสามีที่ขอแยกทาง รวมถึงธุรกิจของครอบครัวที่ทำร่วมกันก็ต้องจบสิ้นลง

“เหมือนมรสุมชีวิตที่โหมกระหน่ำเข้ามา ไม่รู้ว่าเป็นเคราะห์กรรมอะไรหนักหนา ถ้าหากช่วงนั้นไม่ได้พ่อแม่ และลูก คอยเป็นกำลังใจ ก็คงไม่มีแรงสู้ชีวิตมาถึงทุกวันนี้”

ต่าย บอกอีกว่า แรกๆ ยอมรับว่า ใช้เวลาทำใจอยู่หลายปีถึงสภาพที่เกิดขึ้นกับตนเองที่ต้องมานอนรอความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งตนก็ไม่อยากรอความช่วยเหลือตลอดไป ทำให้ต้องลุกขึ้นสู้ เพื่อให้ตัวเองมีคุณค่า จึงค้นหาตัวเองว่ามีความสามารถด้านไหน เริ่มจากฝึกการเขียนลายรดน้ำ เพนต์แก้ว เทียนแฟนซี เป่าแก้ว แต่เนื่องจากมือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกนักจึงต้องเปลี่ยนมาเป็นการลงสีแก้วแทน

“จากเดิมที่ธุรกิจของครอบครัวเคยทำเงินได้กว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 5 พันบาท ถึงแม้ว่ามูลค่าจะแตกต่างกันมาก แต่อยากให้ผู้ที่พิการทุกประเภทลุกขึ้นสู้ ทำงานตามความสามารถที่ตนเองมี โดยไม่ต้องแบมือขอจากคนอื่น นั่นคือ การสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองอย่างดีที่สุด” ต่าย ฝากกำลังใจ

...ถึงตรงนี้ เพื่อนำผู้พิการไปสู่การสร้างกำลังใจแก่ตนเอง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) จึงได้จัด “มหกรรมต้นแบบคนพิการไทย” ขึ้น เพื่อรวบรวมคนพิการทุกประเภทในหลากหลายอาชีพที่มีศักยภาพโดดเด่น ประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับของสังคม มาเพื่อให้ผู้พิการ คนทั่วไป ได้ศึกษาเป็นแบบอย่าง รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนา และตระหนักถึงคุณค่าในตัวผู้พิการเอง ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 ก.ค.นี้ ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ฮอลล์ 9-10 อิมแพค เมืองทองธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น