xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “ผู้ลี้ภัย” เกลื่อนประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชากรส่วนใหญ่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยคือเด็กและผู้หญิง
รายงานพิเศษ โดย...พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

ทุกวันนี้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ได้ส่งผลให้เพื่อนมนุษย์จำนวนมาก ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่สามารถยืนอยู่ในประเทศบ้านเกิดของตัวเองได้ โดยในปีที่ผ่านมาพบมีคนกว่า 42 ล้านคน ที่พลัดพรากจากบ้านเรือนตัวเอง ซึ่งสามารถแบ่งเป็นผู้ลี้ภัย 16 ล้านคน ผู้พลัดถิ่น 26 ล้านคน และประเทศที่มีคนพลัดถิ่นมากที่สุด คือ ปากีสถาน ศรีลังกา และ โซมาเลีย


ที่น่าสนใจยิ่ง ก็คือ นอกจากประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามาสูงสุดในภูมิภาคแล้ว ยังมีผู้ลี้ภัยอีกว่าพันคนที่กระจายอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ อีกด้วย
โจเซปเป เดอ วินเซนทิส
โจเซปเป เดอ วินเซนทิส รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้ข้อมูลว่า เป็นเวลากว่า 35 ปีแล้วที่ประเทศไทยให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย จากความชัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านทั้ง กัมพูชา เวียดนาม ลาว และ พม่า ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จะเป็นชนกลุ่มน้อยชาวพม่า กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง ที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ใน 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และ ราชบุรี รวมทั้งสิ้นกว่า 140,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ลี้ภัย 112,932 คน ที่ขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยแล้ว และอีกกว่า 12,578 คน กำลังอยู่ในขั้นตอนขึ้นทะเบียน ซึ่งหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันจะเห็นว่าผู้ลี้ภัยในไทยมีจำนวนสูงที่สุด เพราะยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน


นอกจากจะมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงทั้ง 9 แห่งแล้ว จากสถานการณ์ล่าสุดพบด้วยว่า มีผู้ลี้ภัยอีกว่าพันคนที่กระจายอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ด้วย ...

โจเซปเป อธิบายว่า สำหรับผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ นั้น ทาง UNHCR ได้ยอมรับคนพวกนี้ แต่ในแง่กฏหมายยังไม่มี เพราะไทยยังไม่ได้ลงนามตามอนุสัญญาเรื่องผู้ลี้ภัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับรัฐบาลไทยให้มีการลงนามเกิดขึ้น ฉะนั้น คนเหล่านี้ยังถือเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จึงต้องหลบๆ ซ่อนๆ มีความเสี่ยงที่จะโดนจับ เนื่องจากไม่มีเอกสารบ่งบอกถึงสถานะของตัวเอง จนบางครั้งอาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ได้ แต่หากพวกเขาได้รับความเมตตาจากผู้คนให้ทำงานก็ถือว่าเป็นโชคดี ผิดกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายพักพิง เพราะเมื่อคนอยู่กันจำนวนมากในเวลานานๆ สิ่งที่เกิดคือ การแออัด ความเครียด จนนำไปสู่ความรุนแรง

ด้านแนวทางแก้ปัญหานั้น โจเซปเป บอกว่า แนวทางที่ดีที่สุด คือ การช่วยตั้งถิ่นฐานให้ในประเทศที่ 3 ในกรณีที่ความขัดแย้งในประเทศบ้านเกิดยังไม่สงบ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา UNHCR ได้ช่วยตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้ลี้ภัยในประเทศที่ 3 ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา และ แคนาดาไปแล้วกว่า 4 หมื่นคน แต่ความจริงแล้วคนส่วนใหญ่อยากกลับบ้าน ส่วนคนที่อาศัยในค่ายพักพิงนานๆ ก็ได้เจรจากับรัฐบาลไทย ถึงความเป็นไปได้ที่ให้คนพวกนี้มีโอกาสออกมาเรียนหนังสือ ทำงาน ประกอบอาชีพ
การอบรมอาชีพให้กับผู้ลี้ภัยเพื่อให้พวกเขาหารายได้ให้กับตนเอง และครอบครัว
“ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยอมรับ และรับรู้ว่า มีปัญหานี้เกิดขึ้น ซึ่งการพูดคุยก็มีความคืบหน้าหลายเรื่อง เช่น รัฐบาลยอมให้มีการอบรม ฝึกทักษะอาชีพแก่คนในค่ายผู้ลี้ภัย มีการสอนหนังสือ สอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฝึกอาชีพทั้ง เย็บผ้า เสริมสวย ทำอาหาร ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกสู่โลกภายนอกในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าคนพวกนี้มีศักยภาพในการทำงาน ที่จะสามารถช่วยในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานของไทย จนนำไปสู่การช่วยเหลือเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าไปได้อีกด้วย แต่สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือสถานะทางด้านกฎหมายของคนพวกนี้ ว่าจะมีกฎหมายใดรองรับคนพวกนี้เมื่อออกไปจากค่าย” โจเซปเป ขยายความ

แน่นอนว่า การที่จะให้กลุ่มผู้ลี้ภัยออกสู่โลกภายนอกนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย และการสร้างการยอมรับแก่สังคมเป็นเรื่องที่ยากมาก ในประเด็นนี้ โจเซปเป มองว่า จริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยไม่ได้หมายถึงคนทำผิดกฎหมาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม แต่เป็นผู้คนที่หนีจากภาวะความไม่สงบภายในประเทศเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จะกลัวคนอื่นมากกว่า เพราะเขาเคยผ่านเรื่องราวที่เจ็บปวดมามาก จึงอยากให้คนไทยเข้าใจ เปิดใจยอมรับมากกว่านี้
 ห้องเรียนในค่ายผู้ลี้ภัย
ที่สุดแล้ว โจเซปเป ทิ้งท้ายว่า ต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด คือ ความขัดแย้งที่ทำให้ผู้คนต้องหลบหนีออกมาจากประเทศของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาก่อน ผู้ลี้ภัยทั้งหลายจึงจะสามารถกลับประเทศได้ แต่หากความขัดแย้งยังคาราคาซัง ไม่ยุติง่ายๆ ผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงก็ยังต้องอยู่กันต่อไป และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น