xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางหนี “โรฮิงญา” ชนกลุ่มน้อยถูกลืมที่พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ที่ลักลอบเข้ามาในเขตน่านน้ำไทย ฝั่งทะเลอันดามัน ด้าน จ.ระนอง ถูกเจ้าหน้าที่ทางการไทยจับกุมตัวได้อย่างต่อเนื่อง
รายงาน
ระนอง


“ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา” ทยอยทะลักเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจับกุมได้แล้วหลายพันคน ล่าสุดเสียชีวิตคาสถานที่กักกัน ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง 2 คน หลังถูกคุมขังในที่แคบนานกว่า 7 เดือน เหตุถูกทางการพม่ากดดันอย่างหนัก ไม่ยอมรับเป็นพลเมือง ต้องยอมหนีไปตายดาบหน้า ที่เหลือผ่านไปยังประเทศที่ 3 โดยมีขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาสอดแทรก หวังใช้ไทยเป็นที่พัก ขณะที่การสกัดกั้นของทางการไทย ยังทำได้ยาก เหตุติดขัดปัญหาเรื่องบประมาณ แนะรัฐบาลเร่งออกมาตรการ-นโยบายดำเนินการ ที่ชัดเจน ก่อนกลายเป็นปัญหาหนักอก

“ใจจริงแล้วเราไม่อยากเดินทางไปกรุงเทพฯ อยากอยู่ที่ระนองมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารการกินดี แต่เมื่อทางการไทยให้ไป เราก็ต้องเสี่ยง เพราะตอนนี้เราคิดเพียงอย่างเดียวว่า ไม่อยากกลับบ้านแล้ว เพราะกลัวทหารพม่าทำร้าย ขอทางการไทยส่งไปอยู่ที่ประเทศไหนก็ได้ยกเว้นพม่า” นี่คือคำพูดสุดท้ายของนายมามุต ฮุตเซ็น อายุ 50 ปี ชาวโรฮิงญา ซึ่งพูดไทยได้ค่อนข้างชัดเจน

1 ในชาวโรฮิงญา 57 คน จากทั้งหมด 78 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทางการไทยจับกุมได้ และควบคุมตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา หลังศาลจังหวัดระนองพิพากษา สั่งปรับคนละ 2,000 บาท และถูกขังแทนค่าปรับ ซึ่งทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ส่งกลับ สตม.ซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร หลังจากที่เพื่อนร่วมชะตากรรม 2 คน เสียชีวิตคาห้องขัง

จากอาหารเจ็บป่วย แขนขาอ่อนแรงนับ 10 ราย เป็นผลมาจากการที่ต้องถูกคุมขังอยู่ภายในห้องแคบ ๆ เป็นระยะเวลานานกว่า 7 เดือน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้เคลื่อนย้ายชาวโรฮิงยาทั้งหมดภายในคืนวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา จากการร้องขอขอหลายฝ่าย เพราะเกรงว่า อาจจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จะเป็นประเด็นทำให้ประเทศไทยถูกโจมตีจากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้

มามุต บอกให้รู้ว่า แม้เค้าจะถูกส่งไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ที่ไม่ใช่พม่า เพราะหากเค้า และเพื่อน ๆ ถูกผลักดันกลับพม่า แน่นอนว่า เท้าของเค้า และเพื่อนอาจจะยังไม่ได้เหยียบแผ่นดินเสียด้วยซ้ำ ก็จะถูกทางการพม่า ผลักดันกลับออกมาอีกอย่างแน่นอน โดยที่ไม่สนใจชะตากรรมที่พวกเค้าจะได้รับด้วยว่า จะเป็นอย่างไร อยู่ หรือตาย

จากข้อมูลของป้องกันจังหวัดระนอง ระบุว่า ชาวโรฮิงญาเริ่มอพยพเข้าประเทศไทยด้าน จ.ระนองครั้งแรกเมื่อปี 2548 แต่ไม่มีการบันทึกสถิติไว้ ต่อมาปี 2549 มีการจับกุมได้ครั้งแรก จำนวน 1,225 คน ปี 2550 จับกุมได้ จำนวน 2,763 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 คิดเป็น 125% และล่าสุดปี 2551 ที่ผ่านมา จับกุมได้ จำนวน 4,886 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 คิดเป็น 77% ยังไม่รวมที่เล็ดลอดไปได้ และข้อมูลของจังหวัดอื่น ๆ ในจังหวัดแถบชายฝั่งอันดามัน ซึ่งมีการจับกุมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เมื่อปี 2550 ชาวโรฮิงญา เดินทางเข้า จ.ระนอง เที่ยวแรก เมื่อวันที่18 ตุลาคม จำนวน 92 คน เป็นชายล้วน ถูกจับกุมได้บริเวณด้านทิศตะวันตกของเกาะพยาม อ.เมืองระนอง และในปีนี้ก็เช่นกัน คาดว่า หลังทะเลอันดามันหมดมรสุม คลื่นลมสงบเรือของชาวโรฮิงญา ชุดแรกน่าจะเข้ามาประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าที่สุดก็ต้นเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้ เพราะจากการตรวจสอบ ด้านการข่าวของหน่วยงานด้านความมั่นคง พบว่า มีการรวมกลุ่มของชาวโรฮิงญา ที่รัฐอาระกันแล้ว และพร้อมจะเดินทางทันทีที่คลื่นลมสงบ โดยเล็งเป้าหมายมาที่หมู่เกาะสุรินทร์ เกาะพยาม และเกาะช้าง เป็นหลัก และมีจำนวนคนเพิ่มมากขึ้นจากปี 2551 อย่างแน่นอน

สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการซักถามชาวโรฮิงญา ของหน่วยงานด้านความมั่นคงในจังหวัดระนอง ระบุว่า มีกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งใน และต่างประเทศ เป็นผู้สนับสนุน และแสวงหาผลประโยชน์กับการหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญา โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ที่มีการติดต่อเชื่อมโยง ตั้งแต่ก่อนการหลบหนีเข้าเมือง โดยได้มีการประสานข้อมูล และนัดหมายก่อนการเดินทางออกจากรัฐอาระกัน มีการวางระบบในการสื่อสาร การให้ความช่วยเหลือระหว่างการเดินทาง มีการนัดหมายกำหนดจุดนัดพบ ภายหลังเดินทางหลบหนีเข้ามายังจังหวัดระนองได้แล้ว และจะนำพม่าไปสู่พื้นที่ตอนใน หรือประเทศที่สามต่อไป

2.กลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นภายหลังการหลบหนีเข้าเมืองมาแล้ว คือ กลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ ที่เกิดขึ้นภายหลังผู้หลบหนีเข้าเมืองถูกจับกุม และถูกผลักดันออกไปตามกระบวนการของด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยเมื่อถูกผลักดันออกไปแล้ว จะไปรวมตัวกันตามเกาะแก่ง หรือแนวชายแดน ต่อจากนั้นจะมีกลุ่มการค้ามนุษย์ในพื้นที่ เข้าให้การช่วยเหลือลักลอบนำพาเข้ามาในราชอาณาจักรอีกครั้ง ก่อนจะนำพาไปสู่พื้นที่ตอนใน หรือประเทศที่สามต่อไป และ

3.กลุ่มเครือญาติ ที่เดินทางหลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดระนอง พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรุงเทพฯ เป้าหมายส่วนใหญ่ของชาวโรฮิงญา เพื่อเดินทางผ่านประเทศไทย ไปประเทศที่สาม เพื่อทำงานหาเงินส่งกลับให้ครอบครัว โดยอาศัยตลาดมืด ผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งหมดเป็นชายฉกรรจ์ ที่หวังต้องการหางานทำมิใช่การตั้งถิ่นฐาน

ส่วนมูลเหตุที่ต้องหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแล้ว ยังถูกกดดันจากทหารพม่า เช่น บังคับใช้แรงงานยึดทรัพย์สิน ขับไล่ออกจากหมู่บ้าน เป็นต้น และที่สำคัญ คือ พม่าไม่ยอมรับว่า โรฮิงญาเป็นพลเมืองของตน นอกจากนี้ มีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนว่า ประเทศไทยเปิดรับชาวโรฮิงญา ให้เข้ามาทำงานในประเทศโดยถูกต้องจำนวนมากและสามารถเดินทางเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

การเดินทางของชาวโรฮิงญา จะใช้เรือประมงขนาดเล็กที่อยู่ในสภาพชำรุดเป็นพาหนะ หากพิจารณาจากสภาพของเรือ เครื่องยนต์ และภาชนะที่จัดเก็บน้ำมันสำรองแล้ว รวมถึงจำนวนคนที่บรรทุก และเสบียงอาหารที่จัดเตรียมไว้มาเปรียบเทียบกับเส้นทาง และระยะทางในการเดินทางจากรัฐอาระกันถึงจังหวัดระนอง ประมาณ 780 ไมล์ทะเล จะเห็นว่า เรือดังกล่าวไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทย

จึงมีเหตุอันน่าเชื่อได้ว่า บุคคลเหล่านี้มิได้เดินเรือมาจากรัฐอาระกันโดยตรง แต่อาจมีเรือขนาดใหญ่บรรทุกมาส่งในจุดใดจุดหนึ่งก่อน เช่น ที่เมืองมะริด หรือทวาย แล้วจึงใช้เรือขนาดเล็กเดินทางต่อเข้ามายังประเทศไทย เมื่อเข้าใกล้น่านน้ำของไทย คนพวกนี้จะนำเสบียงอาหาร น้ำมัน โยนทิ้งทะเล แล้วปล่อยให้เรือลอยลำเข้ามาในน่านน้ำของไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบ จะไม่สามารถผลักดันออกไปได้ ยินยอมให้จับกุมแต่โดยดี

บางครั้งมีการทุบตีทำร้ายร่างกายกันเองจนได้รับบาดเจ็บ ถึงกับเลือดตกยางออกแล้วอ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทำร้ายร่างกาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนเข้ามาดูแล คุ้มครอง แล้วนำเข้ามารักษาในประเทศไทย โดยมีกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์เป็นผู้คอยแนะนำสั่งการ

เมื่อมีการจับกุมแต่ละครั้ง จากการตรวจค้นตามตะเข็บเสื้อผ้า จะมีเบอร์โทรศัพท์มือถือซุกซ่อนไว้ สำหรับติดต่อเมื่อขึ้นถึงฝั่ง บางคนลงทุนถึงขนาดยอมสักยันต์ตามร่างกายเป็นภาษาอาระกัน แต่เมื่อให้ล่ามตรวจสอบอย่างละเอียดแปลออกมาพบว่า เป็นหมายเลขโทรศัพท์เช่นกัน เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่

ในส่วนของจังหวัดระนอง ได้มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เรืออพยพของชาวโรฮิงญาเข้ามาในน่านน้ำของไทย โดยวางแนวป้องกันไว้ 3 แนว คือ แนวเขตน่านน้ำชายแดน ใช้ทหารเรือจากทัพเรือภาคที่ 3 สกัดกั้นไม่ให้เข้ามาในน่านน้ำของไทย 2.แนวน่านน้ำตอนในของไทย มีการสนธิกำลัง ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจน้ำ ตำรวจตระเวนชายแดน และทหารบก

หากมีการเล็ดลอดเข้ามา ก็จะผลักดันออกไปเช่นกัน และ 3.แนวชายฝั่ง และเกาะแก่ง จะใช้กำลังประชาชนในการสกัดกั้น คอยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ หากพบเห็นขอให้ประชาชนอย่าให้ความช่วยเหลือใด ๆ แก่ผู้หลบหนีเข้าเมือง เพราะจะมีความผิดฐานให้ความช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือนำพา แต่ให้แจ้งทางราชการเข้าไปดำเนินการ

การสกัดกั้นการเดินทางลักลอบเข้าเมืองของชาวโรฮิงญาแต่ละครั้ง ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ล้วนเป็นไปด้วยความยากลำบากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสกัดกั้น เนื่องจากจังหวัดระนอง มีแนวทะเล และชายฝั่งที่ค่อนข้างยาว ทำให้มีปัญหาการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ งบประมาณในการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเรือตรวจการณ์ และเมื่อมีการจับกุมได้แล้ว จะมีปัญหาในการผลักดัน

ทั้งนี้ เพราะตามหลักกฎหมายเข้าช่องทางไหน ต้องผลักดันออกช่องทางนั้น ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก อีกทั้งทางการพม่า ก็ไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ด้วย ส่วนข้อห่วงใยต่อปัญหาของกลุ่มโรฮิงญานั้น การอยู่ในภาวะอดอยากหากมีใครว่าจ้างให้คนกลุ่มนี้ ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเข้ากลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการสร้างเครือข่ายในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เช่น การขอสัญชาติไทย เป็นต้น

จากสถาการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกลุ่มชนโรฮิงญาจนถึงขณะนี้ ตั้งแต่มีกระแสข่าวว่า ทางการไทยผลักดันชาวโรฮิงญาไปทิ้งกลางทะเล จนต้องลอยคอไปขึ้นฝั่งที่อินเดีย ทารุณกรรม และล่าสุด มีโรฮิงญาเสียชีวิต คาสถานที่กักกัน 2 คน ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง เชื่อว่า หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการหรือนโยบายอะไรที่ชัดเจนออกมาเสียแต่เนิ่น ๆ กลุ่มโรฮิงญาจะเป็นปัญหาหนักอกของจังหวัดระนองในเวลาอันใกล้ และจะส่งผลกระทบไปถึงรัฐบาลไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน


มามุต ฮุตเซ็น อายุ 50 ปี ชาวโรฮิงญา ชาวโรฮิงญา ที่ต้องเสียเพื่อนร่วมชะตากรรมในสถานที่กักกัน ด่าน ตม.ระนอง ไป 2 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น