ระนอง - จังหวัดระนองระดมความคิดเห็นแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหลบหนีเข้าเมืองของกลุ่มโรฮิงญา
นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.)จังหวัดระนอง และ พ.อ.มนัส คงแป้น ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองของชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา จากประเทศพม่า โดยมีตัวแทนหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้ง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลปากน้ำ อ.เมืองระนอง เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ไปนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของ กอ.รมน. ที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2551
พ.อ.มนัส กล่าวว่า การอพยพของชาวโรฮิงญามีกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกทั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ระหว่างเดินทาง และที่ปลายทาง และอาจจะไปเชื่อมโยงถึงกลุ่มก่อการร้าย ค้ายาเสพติด ค้าอาวุธสงคราม เป็นต้น และในปีนี้ก็เช่นกันคาดว่าหลังทะเลอันดามันหมดมรสุม คลื่นลมสงบ เรือของชาวโรฮิงญาชุดแรกน่าจะเข้ามาประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยเล็งเป้าหมายมาที่ เกาะพยาม และเกาะช้าง ชายฝั่งจังหวัดระนอง เป็นหลัก
นายวันชาติ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางแนวทางการปฏิบัติร่วมกันเพื่อความเป็นเอกภาพเพราะเชื่อว่าในปีนี้จะมีชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาอพยพเข้ามาเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เบื้องต้นได้จัดวางมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เรืออพยพของชาวโรฮิงญาเข้ามาในน่านน้ำของไทย 3 ชั้น คือ ชั้นแนวเขตน่านน้ำชายแดนใช้ทหารเรือจากกองเรือภาคที่ 3 เป็นกำลังหลัก 2 ชั้นแนวน่านน้ำตอนในของไทย มีการสนธิกำลังทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจน้ำ และทหารบก หากมีการเล็ดลอดเข้ามาก็จะผลักดันออกไปเช่นกัน และ 3.ชั้นแนวชายฝั่งและเกาะแก่ง จะใช้กำลังประชาชนในการสกัดกั้น คอยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ หากพบเห็นขอให้ประชาชนอย่าให้ความช่วยเหลือใด ๆ แก่ผู้หลบหนีเข้าเมืองเพราะจะมีความผิดฐานให้ความช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือนำพา แต่ให้แจ้งทางราชการเข้าไปดำเนินการ
นายวันชาติ กล่าวว่า บางทีการสกัดกั้นไม่ให้เรืออพยพของชาวโรฮิงญาเข้ามาในน่านน้ำของไทยจะได้ผลมากกว่าให้ขึ้นฝั่งแล้วจับกุมดำเนินคดี แม้ว่าจะใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากก็ตามโดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะถ้าขึ้นมาบนฝั่งแล้วจะมีปัญหาได้การดูแล และการผลักดันเพราะทางการพม่าไม่ยอมรับคนกลุ่มนี้ ซึ่งทางจังหวัดระนองจะได้นำเสนอต่อที่ประชุม กอ.รมน.ที่กรุงเทพฯต่อไป
จากข้อมูลของป้องกันจังหวัดระนอง ระบุว่า ชาวโรฮิงญา เริ่มอพยพเข้าประเทศไทยทางด้านจังหวัดระนองครั้งแรกเมื่อปี 2548 แต่ยังไม่มีการบันทึกสถิติไว้ ต่อมาในปี 2549 มีการจับกุมได้ 1,225 คน ปี 2550 จับกุม 2,763 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 คิดเป็น 125% และล่าสุดปี 2551 จับกุม 4,886 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 คิดเป็น 77% ซึ่งยังไม่รวมที่เล็ดลอดไปได้ และข้อมูลของจังหวัดอื่น ๆ ในจังหวัดแถบชายฝั่งอันดามันซึ่งมีการจับกุมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน