xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ท่องเที่ยวตรวจหมู่บ้านโชว์ “กะเหรี่ยงคอยาว” หวั่นเข้าข่าย “สวนสัตว์มนษุย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ตำรวจท่องเที่ยวเชียงราย นำกำลังเข้าตรวจสอบศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านชนเผ่า หลัง UNHCR ระบุ มีการลักลอบนำกะเหรี่ยงคอยาวมาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวชมเข้าข่าย “สวนสัตว์มนุษย์” พร้อมขู่บอยคอตการท่องเที่ยวเชียงราย เบื้องต้นพบกะเหรี่ยงคอยาว 8 ครอบครัว 23 คน จากฝั่งพม่าและมีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง

วันนี้ (19 มี.ค.) พ.ต.ต.พัฒนชัย ภมรพิบูลย์ สารวัตรตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย พร้อมนายประเสริฐ ไชยานานันท์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์การท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการจังหวัดเชียงราย นำกำลังเข้าตรวจสอบที่ศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตร ศูนย์รวมหมู่บ้าน 5 ชนเผ่าอาข่า ลาหู่ ปะด่อง ปะหล่อง กะเหรี่ยง ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 262 ม.6 บ้านป่าอ้อ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย หลังจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ (UNHCR) ระบุว่า มีการลักลอบนำชาวกะเหรี่ยงคอยาว มาจัดแสดงในลักษณะเป็นสวนสัตว์มนุษย์ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ เมื่อไปถึงพบว่าศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ส.ป.ก.4-01 เนื้อที่กว่า 300 ไร่ มีรถทัวร์และรถตู้รับส่งนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จอดเรียงรายนำกรุ๊ปทัวร์เข้าชม หมู่บ้านชนเผ่าที่มีการจัดสร้างหมู่บ้านทั้ง 5 เผ่าเอาไว้ ในแต่ละโซน มีการติดป้ายระบุค่าเข้าชมหัวละ 500 บาท

ส่วนที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ โซนหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว ที่มีสร้างบ้านไม้ไผ่ มีกะเหรี่ยงคอยาวทั้งเด็กเล็ก หญิงสาววัยรุ่น หญิงสาววัยกลางคนจน ที่มีห่วงเหล็กใส่คล้อง นั่งทอผ้าอยู่ตามบ้านของตัวเอง จำนวน 8 ครอบครัว รวม 23 คน โดยไม่มีการลุกเดินไปไหน นั่งอยู่ตามจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น และมีการจ้างครูมาสอนหนังสือให้กับเด็กชนเผ่าในนี้ด้วย ส่วนชาวปะหล่อง มีราว 20 คน ที่ระบุว่ามีการทำการเกษตร และชาวไทยภูเขาอีกจำนวนหนึ่ง

กรุ๊ปทัวร์ที่เข้ามาถึงหมู่บ้านชนเผ่า จะได้รับชมการจัดแสดงวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว พร้อมทั้งมีไกด์นำชม ซึ่งหลังการแสดงเสร็จจะมีการบริจาคเงินใส่กล่องรับบริจาค และมีการเลือกซื้อสินค้าที่ระลึก ตามที่เจ้าของนำมาวางจำหน่าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังเข้าสอบถามเพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากทั้ง 5 ชนเผ่า โดยพบว่า กะเหรี่ยงคอยาวทั้งหมด มาจากดอยก่อ จ.ท่าขี้เหล็ก ใกล้เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ไม่ใช่ถูกขนย้ายมาจากชายแดนด้าน จ.แม่ฮ่องสอน

นายอนันต์ เรือนสังข์ เจ้าของกิจการ กล่าวว่า ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและปะหล่อง ได้มีการขออนุญาตจากทางจัดหางานจังหวัดอย่างถูกต้อง โดยนำเข้ามาอยู่ในที่ศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตร ที่จัดตั้งขึ้นมา โดยจะมีการแยกโซนให้อยู่และแบ่งหน้าที่การงานให้ทำ 3 ประเภท คือ กลุ่มทอผ้า กลุ่มเกษตรและกลุ่มปศุสัตว์ เลี้ยงวัวกว่า 100 ตัว เอาไว้

สำหรับรายได้ในนี้มาจากการจัดแสดงของชนเผ่า การจำหน่ายสินค้าเกษตรและสินค้าที่ระลึก โดยจะมีการแบ่งจ่ายให้เป็นเงินเดือนแก่ชาวกะเหรี่ยงคอยาวและชาวปะหล่อง ส่วนเผ่าอาข่าและเผ่าลาหู่ ที่มีบัตรก็จะมีการว่าจ้างแรงงานเป็นรายวัน เงินเดือนตั้งแต่ 3,000-8,000 บาท

“ที่ผ่านมา มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เข้ามาตรวจสอบแล้ว แต่ไม่พบว่ามีการค้ามนุษย์ในลักษณะจัดทำสวนสัตว์ ตามที่ยูเอ็นระบุกล่าวหาแต่อย่างใด ทุกฝ่ายพึงพอใจที่จะอยู่ที่นี่ 5 ชนเผ่า ที่เรานำเข้ามาอยู่ ล้วนแต่มีความสุขที่จะอยู่ที่นี่ ไม่อยากกลับไปประเทศแม่ เพราะมีความลำบากมากกว่า และเมื่อเร็วๆ นี้ มีชนเผ่าปะหล่องที่เรานำเข้ามา ตั้งครรภ์คลอดบุตรออกมา 2 คน เมื่อไปคลอดลูกที่ รพ.รัฐ ก็ไม่ได้รับสิทธิหรือการช่วยเหลือแต่อย่างใดด้วย และที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีการจัดท่องเที่ยวแบบนี้ 4 แห่งด้วย ก็ยังทำกันได้” นายอนันต์ กล่าว

ด้าน พ.ต.ต.พัฒนชัย กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะการขยายเผ่าพันธุ์ ซึ่งเดิมมีการขอโควตานำกะเหรี่ยงคอยาวและชาวปะหล่อง มาทำงานครบตามจำนวนก็จริง แต่ระยะหลังพบว่ามีการคลอดลูก ขยายวงศ์วานออกไป ซึ่งเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่ อาจจะมีปัญหาในเรื่องการเรียกสิทธิหรือเรื่องสัญชาติไทย และปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว ลักลอบตั้งถิ่นฐานในประเทศอย่างผิดกฎหมายตามมาในอนาคต และที่น่าห่วง คือ ทางยูเอ็นเฮชซีอาร์ มีการขู่บอยคอตการท่องเที่ยว จ.เชียงราย หากยังมีการจัดตั้งสวนสัตว์มนุษย์ลักษณะนี้อยู่ จึงต้องเข้ามาตรวจสอบดำเนินการ

ขณะที่รายงานข่าวจากชุดสืบสวนตำรวจท่องเที่ยว เผยด้วยว่า จากการสอบถามชาวกะเหรี่ยงคอยาว ทราบว่า มีการจ่ายเงินให้ชนเผ่าทั้ง 5 ไม่เท่ากัน โดยกลุ่มกะเหรี่ยงคอยาวและชาวปะหล่อง ได้เงินเดือนประมาณ 2,000 บาท ส่วนอาข่าและลาหู่ ได้เดือนละ 500 บาท และมีการซื้อข้าวสารแจกให้ชาวเขาในนี้ โดยหากเป็นครอบครัว จะแบ่งเป็น 2 ครอบครัว จะได้ข้าวสาร 1 กระสอบต่อ 1 เดือน ส่วนประเภทไม่มีครอบครัว จะได้ข้าวสาร 1 ถัง (20 กิโลกรัม) ต่อเดือน

ทั้งนี้ ในแต่ละวันจะมีกรุ๊ปทัวร์เข้ามา ทำให้มีการหักรายได้ค่าเข้าชม 500 บาท ให้กับไกด์ประมาณ 150-200 บาทต่อคน และจากปริมาณทัวร์ที่เข้ามาไม่หยุดในแต่ละวัน จนไปถึงช่วงเทศกาลท่องเที่ยวสถานที่แห่งนี้จะมีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 100,000 บาทต่อวัน นับว่าสูงและยังมีความพยายามของกลุ่มนายทุน ที่จะเลียนแบบเพื่อทำกิจการในลักษณะในพื้นที่ จ.เชียงราย ขึ้นมาอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น