xs
xsm
sm
md
lg

เผยปี 51 ละครไทยร้อยละ 80 หนักฉากข่มขืน กักขัง แก้แค้น ชิงรักหักสวาท ชี้ช่อง 3 พุ่งปมรักขัดแย้ง ช่อง 5 เนื้อหารุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สสส.เผยผลการศึกษาพบปี 51 มีละครไทยฉาย 113 เรื่อง กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีความรุนแรง ชิงรักหักสวาท กักขัง ข่มขืน อิจฉาริษยา แก้แค้น ชี้ ละครช่อง 3 มีปมขัดแย้งเรื่องรักมากที่สุด 36 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ละครช่อง 5 มีเนื้อหาความรุนแรงต่อเรื่องมากที่สุด “หมอเดว” ระบุฉากข่มขืนผลักวัยรุ่นให้แสดงออกเรื่องเพศเร็ว รุนแรง และเป็นแม่วัยรุ่น

วันนี้ (9 ก.ค.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม และเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ มีการจัดเสวนาเรื่อง “ความรุนแรงในละครโทรทัศน์ทางฟรีทีวี” โดย นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ กล่าวว่า จากการศึกษา “ความรุนแรงในละครโทรทัศน์ทางฟรีทีวี” ในรอบปี 2551 พบว่า มีละครแพร่ภาพ 113 เรื่อง โดย ละครไทย 80% อยู่ในเรตติ้ง น.13 และ 18 คือ มีความรุนแรง เพศ ภาษา และมีละครเรต ท.เพียง 20% เท่านั้น ละครส่วนใหญ่ 110 เรื่อง มีปมขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรง และบางเรื่องมีมากกว่า 1 รูปแบบ ละครช่อง 3 จะมีปมความขัดแย้งในละครทุกเรื่อง ปมขัดแย้งเรื่องความรักมากที่สุด 36% โดยชิงรักหักสวาทนำไปสู่ความรุนแรง เช่น ฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย ดูถูก กักขัง และข่มขืน ทั้งนี้ยังพบการสร้างปมอาฆาต แก้แค้น อิจฉาริษยา มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การวางแผนฆ่า ซึ่งเป็นการทำความรุนแรงทั้งต่อร่างกาย จิตใจ เพศ ด้วยวิธีต่างๆ


“ละคร 113 เรื่อง มี 10 เรื่อง ที่มีแก่นของเรื่องที่ดี ที่น่าเสียดายคือแก่นเรื่องดี แต่วิธีนำเสนอใช้ความรุนแรงมากไป โดยมี 10 สูตรยอดนิยมวนเวียนไม่เคยเปลี่ยน เช่น เข้าใจผิดแก้แค้น ทาสสวาท แล้วเราก็รักกัน พ่อแม่ เธอทำชั้นเจ็บ ต้องเจ็บกว่า 10 เท่า ทั้งนี้ ละครที่มีความรุนแรงจะออกอากาศมากที่สุดช่วงหลังข่าว 20.00-24.00 น. แต่ละครช่วง 16.00-20.00 น. หรือละครก่อนข่าวค่ำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาครอบครัว ก็การกระทำความรุนแรงที่ใกล้เคียงกัน และที่น่าข้อสังเกต คือ ละครช่วง 12.00-16.00 น.หรือละครกลางวัน ที่เป็นละครที่นำกลับมาออกอากาศซ้ำ ซึ่งมีการทำความรุนแรงทางตรง”นายธาม กล่าว

นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า การศึกษา “การประเมินการจัดระดับความเหมาะสมของละครโทรทัศน์” ที่ได้ประเมินละครทางโทรทัศน์ทั้งก่อนและหลังข่าว เวลา 16.00-22.30 น.วันที่ 9-22 มี.ค.ที่ผ่านมา ตามคู่มือการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ของกรมประชาสัมพันธ์ จากทั้งหมด 20 รายการ โดยเฉลี่ยทุกสถานีโทรทัศน์พบว่า มีรายการที่ใช้เรต “ท.”อยู่ที่ 30% เรต “น.13” อยู่ที่ 40% และเรต “น.18” อยู่ที่ 30% ซึ่งช่วงดังกล่าวไม่พบเรต “ด.” เลย และ พบว่า ระดับความรุนแรงในแต่ละสถานีโทรทัศน์ เฉลี่ยต่อเรื่อง ช่อง 5 มีมากที่สุด คือ ร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ จึงอยากจัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่ประเมินรายการโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม และมีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อด้วย

ด้าน นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หัวหน้าคลินิกวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ผลกระทบจากสื่อไปถึงเยาวชน จากพฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กแสดงออกมาทั้งความก้าวร้าว การแสดงออกเรื่องเพศ เห็นได้ชัดจากการท้องก่อนวัยอันควร การเป็นแม่ในวัยรุ่น ซึ่งมีผลการวิจัยว่า หากมีฉากความรุนแรง เพศ 4 ฉากต่อชั่วโมงจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมได้อย่างชัดเจน จึงควรกำหนดฉากความรุนแรงโดยจัดให้อยู่ในเรต ฉ.และใช้มติ ครม.ในการกำหนดช่วงเวลาในการออกอากาศที่เหมาะสมกับเรตติ้ง

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า แม้จะมีการทำงานอย่างต่อเนื่องเรื่องการจัดระบบเรตติ้ง แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ทำให้จำเป็นต้องหากฎหมายอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น พ.ร.บ.การศึกษา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่จะนำมาคุ้มครองเด็กและเยาวชน นอกจากละครแล้วสื่ออินเทอร์เน็ต ก็มีเนื้อหาความรุนแรง เรื่องเพศที่รุนแรงกว่าเพราะไม่มีการควบคุม

ขณะที่ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการยกร่างกฎหมายประกาศเพื่อควบคุมสื่อต่างๆ เช่น การกำหนดเวลาออกอากาศ โดยจำเป็นต้องนำข้อมูล การศึกษาวิเคราะห์ต่างๆ มานำเสนอ เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยยอมรับว่าที่ผ่านมา เกิดเรื่องช่องว่างทางกฎหมายเมื่อกฎหมายเดิมถูกยกเลิกไป ประกอบกับสื่อปัจจุบันถูกนำไปใช้ในการบริโภค มากกว่าให้ความรู้ ทำให้เกิดผลต่อสังคม เช่น การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ความเห็นแก่ตัวขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น