พม.หวังกรณี “เคอิโงะ” เป็นเครื่องเตือนใจหญิงไทย ก่อนตัดสินใจแต่งงานกับคนต่างชาติ ที่หวังเพื่อความสบาย หนีพ้นความยากจน วอนสื่อสนใจเด็กกำพร้าคนอื่นด้วย นักวิชาการสับสื่อเสนอข่าวเกินความพอดี ทำเด็กถูกมองเป็นสินค้า
วันนี้ (26 พ.ค.) นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า อยากให้กรณี ด.ช.เคอิโงะ ที่ตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นหลังจากแม่เสียชีวิตลง เป็นเรื่องเตือนใจให้ผู้หญิงไทยระมัดระวังก่อนตัดสินใจแต่งงานกับคนต่างชาติเพื่อหวังจะใช้ชีวิตสะดวกสบาย พ้นจากความยากจน และวอนให้สื่อให้ความสนใจแก่เด็กคนอื่นๆ ที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งด้วย เพราะไม่ได้มีแต่ ด.ช.เคอิโงะเพียงคนเดียว ซึ่งจากข้อมูลจำนวนเด็กที่ถูกทอดทิ้งในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน 8 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็ก ในปี 2550 มี 190 คน ปี 2551 มี 136 คน และในปีนี้มี 75 คน
“เด็กส่วนใหญ่มักถูกทิ้งในที่สาธารณะ โรงพยาบาล ผู้รับจ้างเลี้ยง และทิ้งไว้กับญาติ สาเหตุหลักๆ คือ การตั้งครรภ์นอกสมรส ตั้งครรภ์ขณะอยู่ในวัยเรียน พ่อแม่ต้องย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในเมือง การหย่าร้าง และการแต่งงานมีครอบครัวใหม่” อธิบดี พส.กล่าว
นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กล่าวว่า กรณี ด.ช.เคอิโงะได้สะท้อนปัญหาสังคมที่ผู้หญิงไทยมักถูกชายชาวต่างชาติทอดทิ้ง เห็นได้จากมีเด็กที่ออกมาเรียกร้องให้ตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นล่าสุดอีกนับสิบราย เมื่อแต่งง่ายก็เลิกง่าย บางรายไม่มีแม้แต่ทะเบียนสมรส
นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวของสื่อได้ให้ความสนใจกับกรณี ด.ช.เคอิโงะมากเกินความพอดี ทำให้เด็กถูกมองเป็นสินค้า จนบริษัทต่างๆ มาขอให้เป็นพรีเซ็นเตอร์ เกินความต้องการและจุดประสงค์ที่แท้จริงของเด็กที่ต้องการพบพ่อเพียงเท่านั้น สื่อเองควรเน้นนำเสนอความเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความกตัญญูและความพยายามเพื่อเป็นแบบอย่างให้เด็กคนอื่น และถึงเวลาแล้วที่สื่อควรถอยออกมาบ้าง ปล่อยให้การพ่อลูกได้พูดคุยกันเอง และเพื่อเป็นการเคารพสิทธิส่วนบุคคลด้วย
ด้าน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการประจำโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ (Media Monitor) กล่าวว่า การเสนอข่าว ด.ช.เคอิโงะ ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้รับสื่อ ตัวเด็ก และสื่อมวลชนเอง สิ่งที่กระทบต่อผู้รับสื่อ คือ มีการนำเสนอข่าวเกินความพอดี ทำให้ผู้ชมบางรายเกิดความเบื่อหน่าย อาจเพราะสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้สงบสุขไม่มีข่าวการเมืองร้อนแรงเหมือนที่ผ่านมา เรื่องของเคอิโงะจึงถูกจับมาเป็นประเด็นร้อน
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อตัวเคอิโงะเองที่ตกเป็นเหยื่อของสื่อโดยไม่รู้ตัว แม้จะได้พบพูดคุยกับพ่อแล้ว แต่ก็ต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวไป สื่อประโคมข่าวให้เด็กเหมือนเป็นดาราแต่จริงๆ แล้วเด็กเป็นเหยื่อของปัญหาสังคม สุดท้ายจึงส่งผลกระทบต่อตัวสื่อเอง ที่เน้นรายงานข่าวเป็นละครชีวิต ขาดการรายงานข่าวในเชิงลึก เช่น สถิติหญิงไทยที่ถูกสามีต่างชาติทิ้ง จำนวนเด็กถูกทอดทิ้ง สาเหตุของปัญหา เป็นต้น