สธ.เผยเสียชีวิตอีก 2 ราย ถูกหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เล่นงาน เป็นนักศึกษาชาย วัย 19 ปี พบโรคแทรกซ้อน ปอดบวม ติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนหญิงวัย 21 ปี ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน เป็นโรคไทรอยด์ ปอดอักเสบ 2 ข้าง รวมดับแล้ว 11 ราย ยังอาการหนักใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่โรงพยาบาลรวม 8 ราย ด้านผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 290 ราย รวมยอดสะสม 2,714 ราย หายแล้ว 2,593 ราย ล่าสุด มอ.ภูเก็ต ประกาศปิดอีก 2 วัน กทม.สั่งโรงพยาบาลในสังกัด 9 แห่ง จัดพื้นที่แยกผู้ป่วยไข้หวัด ให้บริการแบบ One Stop Service จัดแยกวอร์ดพิเศษส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลเฉพาะ
วันนี้ (8 ก.ค.) นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รายที่ 10 โดยเป็นนักศึกษาชายวัย 19 ปี ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากภาวะแทรกซ้อนปอดบวม
ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 11 เป็นหญิงวัย 21 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กทม. ซึ่งผลการตรวจพบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และมีภาวะแทรกซ้อน จากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษรวมอยู่ด้วย
นพ.เรวัติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการหนัก 8 ราย กระจายใน กทม.และต่างจังหวัด ได้แก่ เด็กชายอายุ 7 ขวบ รักษาตัวที่ รพ.เด็ก เนื่องจากไวรัสขึ้นสมอง ทำให้ยังคงมีอาการชักเกร็งแต่ปอดปกติ ส่วนหญิงท้อง 3 เดือน รักษาตัวที่ รพ.นพรัตน์ฯ ขณะนี้ถอดเครื่องช่วยหายใจออกแล้ว แต่ยังมีอาการเหนื่อยหอบและปัญหาซีด จากการป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมีย นอกจากนี้ ยังมีหญิงวัย 21 ปี รักษาตัวใน รพ.จ.ชลบุรี คณะแพทย์ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
โดยในช่วงเช้าวันนี้ตนได้นำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำและความรู้เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ฯ 2009 แก่คณะแพทย์ผู้รักษาที่ รพ.ชลประทาน จ.นนทบุรี ซึ่งที่ รพ.ดังกล่าว มีผู้ป่วย 1 ราย เป็นชายอายุ 38 ปี เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีปอดอักเสบ แพทย์รับตัวดูอาการอย่างใกล้ชิด และมีการล้างไตทุก 3 วันร่วมด้วย นอกจากนี้ จะนำคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำแพทย์ผู้รักษาที่ รพ.ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่ง รพ.ดังกล่าวมีผู้ป่วยที่เป็นชายอายุ 45 ปี มีความดันโลหิตสูงและปอดบวม
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงรายละเอียดการตายของผู้ป่วยทั้ง 2 รายในวันนี้ว่า รายที่ 10 เป็นชายอายุ 19 อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต เริ่มป่วยเมื่อ 30 มิถุนายน 2552 โดยมีอาการไข้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในภูเก็ตแต่ไม่ยอมนอนโรงพยาบาล วันที่ 2 กรกฎาคม 2552 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิรภูเก็ต ผู้ป่วยมีอาการหนักมาก ความดันโลหิตต่ำ แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจช่วยชีวิต และเอ็กซ์เรย์ปอด พบปอดบวมทั้ง 2 ข้างและมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดจำนวนมาก แพทย์ส่งน้ำในช่องปอดตรวจ พบติดเชื้อแบคที่เรียร่วมด้วย แพทย์ให้การดูแลอย่างเต็มที่ ต่อมาผู้ป่วยเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552
สำหรับส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 11 ซึ่งเป็นหญิงอายุ 21 ปี อยู่กรุงเทพฯ ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน และมีโรคไทรอยด์ (Hyperthyroid) เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ด้วยอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีไข้และไปรับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 ได้รับแจ้งว่าเป็นคออักเสบให้กลับไปพักที่บ้าน ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 เวลาประมาณเที่ยงคืนผู้เสียชีวิตเข้ามารับการรักษาที่วชิรพยาบาลด้วยอาการไข้สูง หายใจหอบ ไอ ผลเอ็กซ์เรย์พบปอดอักเสบทั้ง 2 ข้าง เสียชีวิตในวันเดียวกันเวลา 15.00 น.
นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย สำนักระบาดวิทยาได้ทราบผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อเย็นวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 พบยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าไปควบคุมโรคที่พักของผู้เสียชีวิตร่วมกับพื้นที่ทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ตามขอย้ำเตือนผู้ที่มีอาการไข้หวัด และมีไข้ หากภายใน 1-2 วันไข้ไม่ลดมีอาการมากขึ้น ควรให้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 วันนี้ได้รับรายงานผลการตรวจยืนยันพบติดเชื้ออีก 290 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี ซึ่งรวมนักเรียนจำนวน 243 ราย รวมผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 – 8 กรกฎาคม 2552 จำนวน 2,714 ราย หายเป็นปกติแล้ว 2,593 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 11 รายเป็นเด็ก 1 ราย เป็นผู้ใหญ่ 10 รายในจำนวนนี้เป็นชาย 6 ราย เป็นหญิง 4 ราย ในวันนี้ยังมีผู้ป่วยอยู่ในการดูแลในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 110 ราย ได้กำชับให้ทีมแพทย์ให้การรักษา ติดตามอาการอย่างเต็มที่ไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยในชีวิตมากที่สุด
นายมานิต กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้(9 ก.ค.) กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งดูแลโรงพยาบาลเอกชน และกรมการแพทย์ซึ่งดูแลในเรื่องมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ 2009 จัดอบรมฟื้นฟูวิชาการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล เรื่องแนวทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ 2009 ที่โรงแรมมิราเคิล เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ป่วยและจะเร่งขยายการอบรมทั่วประเทศต่อไป
มอ.ภูเก็ต ประกาศปิด 2 วันหวั่นเชื้อหวัดแพร่
นายเมธี สรรพานิช รองอธิการบดีมอ.ภูเก็ต กล่าวว่า หลังได้รับการยืนยันจากกรมการแพทย์ว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัย เพศชาย อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มอ.ภูเก็ตได้ประกาศปิดเรียนเพิ่มอีก 2 วัน ในวันที่ 9-10 กรกฎาคมนี้ ซึ่งในช่วงที่มีการปิดเรียนจะทำความสะอาดห้องพักนักศึกษาจำนวน 1,500 ห้อง ส่วนการเฝ้าระวังนักศึกษารายอื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ขณะนี้ได้มีการติดตามเฝ้าระวังนักศึกษาที่สัมผัสกับนักศึกษารายที่เสียชีวิตทุกราย ซึ่งยังไม่พบอะไรน่าเป็นห่วง
นายเมธี กล่าวว่า หลังจากนี้จะเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่และนักศึกษามีความตระหนักในเรื่องของการป้องกันและการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนทั่วไปส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยตระหนักในเรื่องของการป้องกันเท่าที่ควร ถ้ามีการป้องกันที่ดีจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปได้ยากขึ้น
ด้าน นพ.พงษ์ศักดิ์ รัตนะแสง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังเพื่อนของนักศึกษาที่เสียชีวิตอีก 3 คนอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นพบว่า เพื่อนผู้เสียชีวิตไม่มีการติดเชื้อไข้หวัด 2009 แต่จะต้องมีการเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป ขณะเดียวกันได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวลกับนักศึกษาคนอื่น ๆ ขณะที่ความคืบหน้าเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่จังหวัดภูเก็ตมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว 37 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย
รพ.กทม.ใช้ One Stop Service ป้องกันหวัด 2009
นายไกรจักร แก้วนิล รองปลัด กทม. กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลหนองจอก โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ และศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ทุกแห่ง ได้เปิดช่องทางให้บริการเฉพาะไข้หวัด โดยจะให้บริการในลักษณะจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ทั้งการคัดกรองผู้ป่วย การตรวจรักษาจากแพทย์ และจุดจ่ายยา เพื่อแยกผู้ป่วยไข้หวัดจากผู้ป่วยรายอื่น และประชาชนที่มาติดต่อที่โรงพยาบาลป้องกันการปะปนของเชื้อไข้หวัดใหญ่และแพร่กระจายของเชื้อโรคอื่นๆ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาอาการ มีเอกสารและสื่อต่างๆ ชี้แจงประกอบ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และสามารถดูแลรักษาตนเองได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลยังได้เพิ่มเวลาการตรวจรักษาจากเดิมวันธรรมดา เวลา 08.00-12.00 น. เป็นทุกวันไม่เว้นวันหยุด เวลา 08.00-16.00 น. ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุข เปิดให้บริการในวันเวลาราชการ แต่หากพบว่าสถานการณ์ระบาดรุนแรงจะขยายเวลาบริการต่อไป
สั่งเปิดวอร์ดพิเศษ-ระดมแพทย์ หากพบผู้ป่วย
นายไกรจักร กล่าวด้วยว่า โรงพยาบาลของ กทม. จะไม่ทำการ rapid test หรือการทดสอบอาการไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างคร่าวๆ เนื่องจากผลการตรวจโรคไม่รับรองผลอย่างชัดเจน และไม่เพียงพอที่จะระบุอาการของโรคได้ แต่หากประชาชนร้องขอจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเป็นจำนวนเงิน 4,000 บาทโดยไม่สามารถเบิกได้ทุกกรณีตามอัตราที่กระทรวงวิทยาศาสตร์แจ้ง กรณีเป็นผู้ป่วยต้องสงสัยและแพทย์สั่งตรวจจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากผลจากห้องแล็บของกระทรวงวิทยาศาสตร์ระบุเป็นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 กทม. ได้เปิดวอร์ดพิเศษสำหรับผู้ป่วยดังกล่าว พร้อมทั้งจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลเฉพาะ เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงทีแล้ว
รองปลัดฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่เป็นโรครุนแรงแม้จะมีผู้ชีวิตจากโรคดังกล่าว แต่เกิดจากมีโรคประจำตัวแทรกซ้อนจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต หากดูจากสถิติการเกิดของโรคและจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 0.4 เท่านั้น ซึ่งในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. จะยังคงมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มเสี่ยงทุกพื้นที่เขตเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเพื่อป้องกันตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนอีกด้วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจากโรคดังกล่าวไข้หวัดใหญ่ 2009 และขอย้ำว่าอาการของโรคไม่รุนแรง สามารถรักษาหายได้ภายใน 7 วัน แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สามารถขอคำแนะนำในเบื้องต้นได้ที่ โทร.สายด่วน 1555 ซึ่ง กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ไขข้อข้องใจแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง