xs
xsm
sm
md
lg

หญิงเหยื่อค้ามนุษย์เผยสร้างชีวิตใหม่สุดช้ำ เจอคุกคาม ลูกถูกประจาน ชุมชนไม่ยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“มูลนิธิผู้หญิง” เผยผลการศึกษาการสร้างชีวิตใหม่ หญิงไทยเหยื่อค้ามนุษย์ พบช่วยเหลือเหยื่อตั้งแต่ ก.ย.50 – ก.พ.52 แล้ว 130 ราย อายุเฉลี่ย 25-30 ปี ระบุอุปสรรคสำคัญการสร้างชีวิตใหม่ทั้ง ภาระหนี้ ถูกคุกคามจากเอเยนต์ ชุมชนรังเกียจ จิตใจ ร่างกายย่ำแย่ ติดเหล้า ติดยา ถูกบังคับขายตัวทำเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้านเหยื่อยันตั้งตัวใหม่ลำบาก เจอข่มขู่ ลูกถูกประจานจนเรียนไม่ได้ ขนาดพ่อเอเยนต์บวชยังไม่รับบิณฑบาตร หาว่าดำเนินคดีกับลูกตนเอง วอนผู้เกี่ยวข้องช่วยเหลืออย่างทันใจ ย่นระยะเวลาดำเนินคดีให้สั้นลง

เมื่อวันที่ (29 มิ.ย.) ที่รร.เอเซีย ราชเทวี มูลนิธิผู้หญิงจัดงานสัมมนา “การกลับบ้านและสร้างชีวิตใหม่ ประเด็นท้าทายในการทำงานการค้ามนุษย์” โดย น.ส.มัทนา เชตมี ผู้ประสานงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้นำเสนอรายงานสรุปบทเรียนการทำงานสร้างชีวิตใหม่กับหญิงไทยที่กลับจากต่างแดนว่า จากการศึกษาการให้คำแนะนำ ประสานงานกับหน่วยงานให้ความช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ ระหว่างเดือนกันยายน 2550 – เดือนกุมพาพันธ์ 2552 พบมีผู้เสียหาย 130 คน อายุเฉลี่ยมากสุดอยู่ระหว่าง 25 -30 ปี จำนวน 44 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ส่วนประเทศปลายทางที่เหยื่อเดินทางกลับมาพบ ประเทศบาห์เรน ถึงร้อยละ 40 อิตาลี ร้อยละ 19 และญี่ปุ่นร้อยละ 12 โดยรูปแบบการค้ามนุษย์ร้อยละ 90 ของเหยื่อคือการถูกบังคับค้าประเวณี

น.ส.มัทนา กล่าวต่อว่า สำหรับอุปสรรคสำคัญในการสร้างชีวิตใหม่ของผู้เสียหายนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบได้แก่ 1.ภาระครอบครัวและภาระหนี้สิน ที่มีทั้งหนี้ก่อนเดินทาง หนี้ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หนี้ระหว่างทำงาน 2.การถูกคุกคามจากนักค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้เสียหายหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินคดีกับนายหน้า เนื่องจากเกรงต่อความปลอดภัยในชีวิต ครอบครัว ถูกนักค้ามนุษย์คุกคามระหว่างดำเนินคดี 3. ตราบาปจากสังคม ไม่กล้าเปิดเผยตนเอง เนื่องจากครอบครัวไม่ยอมรับ ถูกชุมชนรังเกียจ

4.สภาพร่างกาย จิตใจที่ย่ำแย่ เพราะในระหว่างการตกเป็นเหยื่อต้องโดนบังคับ ข่มขืนใจให้ขายบริการ ถูกทำร้ายร่างกาย บังคับเสพยา ใช้แรงงานเยี่ยงทาส บางรายส่งผลให้ติดเหล้า ติดยาเสพติด เจ็บป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พิการ เครียด ซึมเศร้าจนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย สุดท้าย 5. การถูกชุมชนดูถูกเมื่อกลับมามือเปล่า ในที่นี้หมายถึงการโดนคนในชุมชน สังคม นินทา ด้วยการมองว่าไปทำงานต่างประเทศแต่กลับมาเป็นหนี้ บ้างดูหมิ่นว่าไปทำงานขายบริการ จึงโดนดูถูก ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย

ทั้งนี้ในส่วนของความช่วยเหลือเหยื่อที่มูลนิธิผู้หญิงดำเนินการมีทั้งการให้ทุนเพื่อประกอบอาชีพ ทุนการศึกษาบุตร การฟื้นฟูเยียวยา ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ภาระหนี้สิน รวมไปถึงการรักษาพยาบาลสำหรับผู้เจ็บป่วย

นางนี (นามสมมติ) ประธานกลุ่มหญิงสู้ชีวิต ผู้เสียหายจากการถูกล่อลวงไปค้ามนุษย์ กล่าวว่า ลำบากมากในการสร้างชีวิตใหม่หลังจากที่กลับมา โดยเฉพาะด้านจิตใจที่ถูกข่มขู่คุกคามจากเอเยนต์ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในพื้นที่ ต้องขายที่มาสู้คดีจนทำให้เอเยนต์ติดคุก แต่ก็ยังถูกคุกคามจากชุมชนที่มองว่าตนไปหากินกลับมาไม่ร่ำรวยก็มาหาเรื่องคนอื่น รวมถึงครอบครัวเอเยนต์ที่แม้แต่พ่อผู้กระทำผิดบวชเป็นพระยังไม่รับบิณฑบาต ลูกก็ถูกประณามจนทำให้เรียนหนังสือไม่ได้ แม้แต่การขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่บางแห่งยังมีอคติ ทำให้ผู้เสียหายได้รับการประณามซ้ำซ้อน สิ่งเหล่านี้ล้วนบั่นทอนกำลังใจที่จะลุกขึ้นสร้างชีวิตใหม่
 
จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนระบบการช่วยเหลือให้ผู้เสียหายได้รับการดูแลช่วยเหลือตามสิทธิอย่างเต็มที่ ให้ประเทศปลายทางออกหลักฐานให้ผู้เสียหายใช้ในกระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมาย และอยากให้กระบวนการดำเนินคดีสั้น และช่วยเหลือทันใจ เพราะกว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ต้องใช้เวลานานทั้งถูกคุกคามตลอด ซึ่งคดีของตนใช้เวลาต่อสู้มาถึง 10 ปีจนขณะนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น