สปสช.กำหนดโรคน้ำหนีบ เป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง อ้าแขนรับรักษา นักดำน้ำ-ชาวประมง ให้ รพ.เบิกตรงจากกองทุน เริ่มในปี 52 ลดภาระ รพ.แบกรับค่ารักษาแพง เผย รพ.วชิระภูเก็ต เป็น รพ.สังกัด สธ.แห่งแรกที่มี “เครื่องไฮเปอร์บาริกแชมเบอร์” ใช้รักษาได้
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปี 2552 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดให้การรักษาด้วยออกซิเจนความกดดันสูง (hyperbaric Oxygen Therapy) สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากการดำน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรคน้ำหนีบ ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับความดันในร่างกายผิดปกติ ส่วนใหญ่จะพบในชาวประมงพื้นบ้านที่นิยมจับปลาโดยวิธีการดำน้ำลึก และนักท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมการดำน้ำลึก พบมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้จังหวัดที่ติดชายทะเล ซึ่งที่ รพ.วชิระภูเก็ต มีห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูง เพื่อใช้เป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและผู้ที่เกิดโรคจากการดำน้ำ ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองที่ประสบกับสภาวะนี้ เมื่อเข้ารับการรักษาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยทางโรงพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามอัตราที่กำหนด
“การกำหนดให้อยู่ในกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูงนั้น จะไม่สร้างภาระด้านงบประมาณให้กับหน่วยบริการประจำ เพราะหน่วยบริการที่รักษาจะเบิกค่าใช้จ่ายมาที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเดิมนั้นการรักษาโรคที่เกิดจากการดำน้ำนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของบัตรทองอยู่แล้วแต่รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายผู้ป่วยใน แต่การรักษาแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้หน่วยบริการประจำต้องแบกรับภาระ ซึ่งในปีนี้สถานการณ์ดังกล่าวจะหมดไป”นพ.วินัย กล่าว
ด้าน นพ.เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการ รพ.วชิระภูเก็ต กล่าวว่า โรคน้ำหนีบเป็นโรคที่เกิดจากการดำน้ำลึกๆ ซึ่งมีแรงดันอากาศภายนอกจะสูงมากเมื่อขึ้นมาจากใต้น้ำที่รวดเร็วจะทำให้แรงดันอากาศลดลงอย่างรวดเร็ว ก๊าซต่างๆ ที่ละลายในเลือดจะกลายเป็นฟองอากาศ และไปอุดตันตามหลอดเลือด ทำให้เกิดการขาดออกซิเจน ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทำให้เสียชีวิต หรือพิการได้ แต่ละปีพบผู้ป่วยประมาณ 20 ราย อาการมักมาด้วยหมดสติอย่างกะทันหัน หรืออัมพาตบางส่วน ดังนั้น การรักษาจะต้องให้ออกซิเจนภายใต้แรงดันสูง โดยใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า ไฮเปอร์บาริกแชมเบอร์ (Hyper Baric Chamber) ที่ รพ.วชิระภูเก็ต มีเครื่องนี้ ซึ่งเป็นแห่งแรกของโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ระบบการรักษาโรคดังกล่าวนี้เป็นมาตรฐานที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้อยู่