xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลสำรวจ “อุณหภูมิใจ” พบคนไทย 13% เครียดมากถึงมากที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลสำรวจอุณหภูมิใจ พบคนไทยมีความเครียดระดับมากถึงมากที่สุดกว่าร้อยละ 13 ในจำนวนนี้มีความคิดทำร้ายตนเองสูงถึงร้อยละ 16 และเคยทำร้ายตนเองแล้วร้อยละ เผยสาเหตุสำคัญ 4 อันดับ คือ ปัญหาการเงิน ครอบครัว การเจ็บป่วยตนเองและปัญหาสังคม/สิ่งแวดล้อม สธ.จัดทีมเคลื่อนที่ให้การช่วยเหลือผู้ที่คิดฆ่าตัวตายให้ทันเหตุการณ์

วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวมาตรการด้านสุขภาพจิต เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในสังคมไทย และร่วมกันให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิต จากภาวะวิกฤตต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

นายมานิต กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยประสบปัญหาวิกฤตมากมาย ทั้งจากการเมือง โรคระบาด พิบัติภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปี 2552 นี้ ได้ส่งผลให้ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้ใช้แรงงานเป็นกำลังหลักของครอบครัว เกิดความเครียด ความวิตกกังวล มีอารมณ์ หงุดหงิด ซึมเศร้า ในรายที่ประสบปัญหารุนแรง อาจเกิดอาการทางจิต รวมถึงการคิดฆ่าตัวตายได้

จากการสำรวจอุณหภูมิใจของคนไทย ของกรมสุขภาพจิต รอบเดือนเมษายน 2552 พบคนไทยมีความเครียดมากถึงมากที่สุดร้อยละ 12.6 ในจำนวนนี้ มีความคิดทำร้ายตนเองสูงถึงร้อยละ 16 และเคยทำร้ายตนเองแล้วร้อยละ 9 โดยสาเหตุสำคัญ 4 อันดับคือ ปัญหาการเงิน ครอบครัว การเจ็บป่วยตนเองและปัญหาสังคม/สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ พบประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกใช้วิธีจัดการกับปัญหาด้วยวิธีที่เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เช่น ดื่มสุราร้อยละ 8 สูบบุหรี่ร้อยละ 6 และเล่นการพนันร้อยละ 1 ส่วนวิธีการเผชิญกับปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสมเมื่อเครียด 5 อันดับแรกที่เลือกใช้มากที่สุด ได้แก่ ดูทีวี หรือภาพยนตร์ ขอคำปรึกษาผู้อื่นหรือคนใกล้ชิด ฟังเพลง ออกกำลังกาย และอยู่กับครอบครัว

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาสุขภาพจิต ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายปรับการช่วยเหลือแบบบูรณาการ เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหา เข้าถึงบริการได้สะดวกและรวดเร็ว โดยระดมทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งภาครัฐ และเอกชนมาร่วมมือกันจัดบริการ ทั้งระบบการให้คำแนะนำระบบอัตโนมัติ 1667 การให้คำปรึกษาสดทางโทรศัพท์ 1323 และ โทรศัพท์ 1669 รวมทั้งพัฒนาบุคลากร การเพิ่มคู่สายหรือใช้เทคโนโลยีให้เชื่อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหาเข้าถึงระบบได้ง่ายขึ้น ตลอด 24 ชั่วโมง

ทางด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เมื่อประชาชนมีความเครียดระดับมากถึงมากที่สุด มีการแสดงออกทางร่างกายที่พบบ่อย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน 5 อันดับ ได้แก่ 1.ปวดหัว มึนหัว 2.ปวดตึงกล้ามเนื้อ 3.ปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนไม่พอ นอนมาก นอนกัดฟัน 4. การกิน เช่น กินมาก กินไม่ลง เบื่ออาหาร และ 5.แน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม สำหรับการแสดงออกด้านจิตใจที่พบบ่อย ได้แก่ หงุดหงิด กังวล โกรธ เศร้า และไม่มีสมาธิ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีศูนย์ภาวะวิกฤตตั้งอยู่ในโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลทั่วไป ขณะนี้จะเพิ่มศักยภาพ โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปให้บริการเมื่อเกิดภาวะวิกฤต มีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการเฝ้าระวังผู้ที่ส่งสัญญาณการฆ่าตัวตาย และเพิ่มพลังสุขภาพจิตในด้าน อึด ฮึด สู้ โดยเฉพาะกลุ่มบัณฑิตที่จบการศึกษาใหม่ ประสบความยากลำบากในการหางานทำ และผู้ว่างงานที่มีนับล้านคนในขณะนี้ เพื่อประคับประครองให้ผู้ที่ประสบปัญหาสามารถก้าวผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น