เจ้าหน้าที่ รพ.สรรพสิทธิ์ ร้องนักการเมืองรวมหัวผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง สั่งด้วยวาจาให้ซื้อระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ มูลค่า 23 ล้านบาท โละของเก่าที่ใช้ได้ไม่มีปัญหา หวั่นทุจริต เหตุราคาสูงเกินจริง และไม่จำเป็น ผอ.โรงพยาบาลยันไม่มีใครสั่ง ด้าน “วิทยา” ปัดไม่รู้เรื่อง มอบปลัด สธ.สอบข้อเท็จจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีจดหมายร้องเรียน ลงนามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ถึงผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยระบุว่า ผู้บริหารโรงพยาบาล ได้ประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อให้ชมการแสดงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เก็บข้อมูลของโรงพยาบาลและพยายามให้เจ้าหน้าที่ลงความเห็นว่าต้องการเปลี่ยนโปรแกรมจากที่กำลังใช้อยู่ ทั้งๆ ที่ไม่พบปัญหาใดๆ จึงขอร้องเรียนให้หน่วยงานที่มีอำนาจระงับคำสั่งให้จัดซื้อโปรแกรมดังกล่าวโดยให้สอบสวนข้อเท็จจริงและหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ
จดหมายร้องเรียนดังกล่าว ระบุว่า มีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีมีคำสั่งด้วยวาจาผ่านทางผู้ตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มายังผู้บริหารของโรงพยาบาล และอาจมีหลายโรงพยาบาลที่ต้องซื้อโปรแกรมจากบริษัทนี้ ซึ่งน่าจะมีการทุจริต โดยบริษัทดังกล่าวอาจให้เงินหรือให้ผลประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สั่งการ หรือรวมทั้งผู้รับคำสั่งมาจัดให้มีการซื้อด้วย
“พวกเรามีความเห็นว่ารายได้ของโรงพยาบาลซึ่งมีไม่มาก และมาจากการทำงานหนักของเจ้าหน้าที่ และจากภาษีของประชาชนควรต้องใช้ให้คุ้มค่าในกิจกรรมที่ให้บริการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนที่เจ็บป่วย ที่สำคัญ ราคาโปรแกรมที่โรงพยาบาลถูกบังคับให้ซื้อสูงถึง 23 ล้านบาท เมื่อซื้อและต้องเสียค่าบริการดูแลระบบ และฝึกเจ้าหน้าที่ใช้โปรแกรมใหม่อีกปีละหลายล้านบาท ทั้งยังทำให้ระบบการทำงานที่ลงตัวอยู่แล้ว เกิดความยุ่งยากที่จะต้องมาฝึกหัดใหม่ใช้เวลาเป็นปี อาจทำให้เสียหายต่อระบบข้อมูลและการดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้เพราะโรงพยาบาลมีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่มีเจ้าหน้าที่น้อยกว่าโรงพยาบาลขนาดเดียวกันเกือบครึ่งหนึ่ง และยังขาดแคลนทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาผู้ป่วยอีกมาก ที่สำคัญกว่านำเงิน 23 ล้านบาทไปจัดซื้อโปรแกรมที่ไม่จำเป็นใช้”หนังสือร้องเรียน ระบุ
ด้านนพ.มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อโปรแกรมเพื่อปรับปรุงระบบข้อมูลด้านเงินคลังของโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าเมื่อใดจะตัดสินใจเมื่อใด ทั้งนี้ขอยืนยันว่าไม่มีการสั่งการจากใครทั้งสิ้น
“นอกจากโปรแกรมที่ได้จะต้องเป็นของดีแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่นำมาตัดสินใจ คือ ผู้ใช้โปรแกรมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล 80% จะต้องใช้โปรแกรมนี้ได้และเห็นด้วยกับโปรแกรมถึงจะตัดสินใจซื้อโปรแกรม จดหมายร้องเรียนดังกล่าวคงเป็นวิธีการแสดงออกว่า ผู้ใช้โปรแกรมของโรงพยาบาลไม่สนใจ ที่ผ่านมา ส่วนตัวสนใจโปรแกรมดังกล่าวตั้งแต่หลายสิบปีก่อนสมัยทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลใน จ.หนองคาย แล้ว แต่มีราคาแพง เมื่อได้มาอยู่ที่นี่จะจัดซื้อรวมในนามชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อให้ได้ราคาถูกลง แต่ก็ยึดผู้ใช้เป็นหลัก หากของดีแต่คนใช้งานไม่เป็นก็ไม่เอาเหมือนกัน” นพ.มนัส กล่าว
ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขอยืนยันว่า ไม่ได้สั่งการและไม่ทราบเรื่องตามที่มีการร้องเรียน แต่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน โปร่งใส ไม่มีทุจริต จะมอบหมายให้ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.ดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงตามที่มีการร้องเรียน และรายงานผลการสอบสวนมาถึงตนโดยตรง อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ร้องเรียนระบุเพียงว่า นักการเมืองระดับรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการด้วยวาจานั้น หากเป็นผู้บริหารระดับสูงที่สุดในกระทรวงสาธารณสุขก็ย่อมหมายถึงตน จึงอยากให้ผู้ร้องเรียนระบุให้ชัดเจนว่าเป็นใคร ในเมื่อตนยังไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น
“เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตัวจริง หรือบริษัทที่เสียผลประโยชน์ที่เป็นผู้ร้องเรียน ซึ่งหากผู้ร้องเรียนหมายถึงผมเป็นคนสั่งการให้มีการซื้อระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ให้ระบุมาให้ชัดเจน เพราะผมยังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ได้มอบหมายให้ปลัดสธ.ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว และขอย้ำว่า การจะดำเนินการอะไรของโรงพยาบาลจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและคุ้มค่าในการลงทุน หากระบบคอมพิวเตอร์ยังสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบใหม่”นายวิทยา กล่าว