xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์-แหลมฉบัง ดูงานเลือกได้สไตล์ “MBA บพิตรพิมุข”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักศึกษาทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ OSIM
เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ จะใช้จ่ายอะไรต้องคิดแล้วคิดอีก กระทั่งคิดจะเรียนต่อ แต่ก็เกรงเรื่องค่าเทอม รวมไปถึงค่าศึกษาดูงานต่างประเทศ ที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกไม่น้อย ทว่า ในขณะนี้ได้มีหนึ่งสถาบันที่มีแนวคิดดีๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายการดูงาน โดยอนุญาตให้นักศึกษาเลือกดูงานระหว่างดูงานในประเทศ และดูงานต่างประเทศ ตามกำลังและความสมัครใจของนักศึกษาแต่ละคน

**ดูงานตรงตามเป้าประสงค์เชิงการบริหาร
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้บริหารและคณาจารย์จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บพิตรพิมุข จักรวรรดิ ได้นำทีมนักศึกษาปริญญาโท โครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต รุ่นปีการศึกษา 2550 ซึ่งถือเป็นรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย รวมทั้งหมดกว่า 30 ชีวิต ลัดฟ้าตะลุยแดนลอดช่อง ดูงานบริษัท OSIM ยักษ์ใหญ่แห่งวงการผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่คนไทยคุ้นตากันดี ก็คือ เก้าอี้นวดไฟฟ้า

“ออน” หรือณัฐกฤตา ทองเสน่ห์ นักออกแบบตกแต่งสาวสวย หนึ่งในนักศึกษาปริญญาโท ที่เลือกเดินทางไปดูงานที่สิงคโปร์ในครั้งนี้ ระบุว่า สำหรับเธอแล้วการดูงานครั้งนี้เป็นประโยชน์มาก เพราะทำให้เข้าใจถึงการนำหลักการบริหารที่เรียน ไปใช้ในการปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้มากขึ้น

“รู้สึกการดูงานครั้งนี้ตรงกับสายงานที่เรียนมาก โดยเฉพาะด้านมาร์เก็ตติ้ง เราได้เห็นกระบวนการด้านมาร์เก็ตติ้งทั้งหมด เท่าที่ทาง OSIM บรรยายให้ฟังนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นด้านธุรกิจการตลาด ซึ่งเป็นทฤษฎีหลักๆ ทั้งนั้น คือ ที่เราเรียนนี่แหละ ดู OSIM แล้วเห็นภาพเลยว่าเอาไปใช้ได้จริงแล้วก็ไม่ต่างจากในหนังสือเลย”

“OSIM เริ่มจากธุรกิจพวกอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารใน ซึ่งพอจังหวะมันไม่ดีเขาก็ไม่ได้ทู่ซี้ทำอยู่อย่างเดิม แต่เขามองช่องทางการตลาดและเทรนด์ความนิยมในขณะนั้นๆ พอเขามองเห็นว่ากระแสในเอเชียบูมเรื่องสุขภาพ ประมาณปี 1987 เขาก็เปลี่ยนเป็นพวกอาหารเสริม เวชภัณฑ์ทางโภชนาการ พวกสมุนไพรต่างๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จนมาเป็นอุปกรณ์พวกเครื่องนวดไฟฟ้า นวดส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนขณะนี้เขามีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลากหลายมาก ทั้งเครื่องออกกำลังกาย อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรค เครื่องฟอกอากาศ จนก่อนหน้านี้ไม่นาน สปาบูม เขาก็ผลิตอุปกรณ์ด้านสปา ซึ่งมันตรงกับหลักการตลาดที่เราเรียน มีการหาช่องทางแหวกตลาด คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในกระแสนั้นๆ มีการรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโลโก้”

ณัฐกฤตา กล่าวว่า สำหรับเธอแล้วความคุ้มค่าในการเสียค่าใช้จ่ายมาดูงานต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำความรู้ที่ได้กลับไปใช้แค่ไหน โดยในการมาสิงคโปร์ในครั้งนี้เธอถือว่าคุ้มค่ามาก เนื่องจากเธอเก็บเกี่ยวความรู้นำไปใช้ประโยชน์ได้มาก

***ได้วิชา ได้ภาษา ได้ประสบการณ์
ในขณะที่ “ตุ่ม” หรือพรพรรณ นงนุช นักศึกษาอีกรายที่สมัครใจไปทริปสิงคโปร์ในครั้งนี้ระบุว่า ประทับใจอย่างแรกคือสภาพบ้านเมืองที่เป็นระเบียบของสิงคโปร์ โดยเฉพาะความสะอาดซึ่งนั่นทำให้เธอรู้สึกว่าอยากกลับมาและเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้กรุงเทพฯ สะอาดได้แบบนี้บ้าง

“การดูงานก็ดีค่ะ ตรงตามทฤษฎีที่เรียนมา ซึ่งมันก็ช่วยเปิดประสบการณ์ดีๆ ที่แค่การนั่งเรียนอยู่ในห้องมันไม่พอ ไม่ได้อะไรแบบนี้ ส่วนเรื่องภาษานี่ถือเป็นผลพลอยได้ที่ดีมาก เพราะการเรียนในห้องเรียนแล้วออกมาเพื่อนๆ ก็พูดภาษาไทย และนิสัยคนไทยส่วนมากก็ไม่ค่อยกล้าคุยกับชาวต่างชาติ การได้ดูงานในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะได้ใช้ความรู้ภาษาอังกฤษที่เรียนมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ ตอนแรกก็ไม่ค่อยกล้าพูด แต่มันจำเป็นเพราะมันต้องสื่อสาร ก็เริ่มพูด แม้จะไปแค่ไม่กี่วัน ก็พยายามพูดเท่าที่มีโอกาส แต่ที่ได้กลับมาเมืองไทยในครั้งนี้นอกจากความรู้ที่ไปดูงานแล้ว ยังได้ความกล้าและความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษกลับมาด้วย”

ส่วนการที่มหาวิทยาลัยให้เลือกการดูงานระหว่างในประเทศและต่างประเทศได้นั้น พรพรรณระบุว่าถือเป็นโอกาสทางการศึกษาที่ดีที่มหาวิทยาลัยหยิบยื่นให้พร้อมกับทางเลือกที่ผู้เรียนสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับข้อจำกัดของแต่ละคน

“บางครั้งอาจจะไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องเงิน แต่บางคนมีครอบครัว มีลูก ก็ไม่อยากห่างไปไกลๆ หรืออาจจะด้วยงานที่ลาไปไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการศึกษาให้หลากหลายมาขึ้น เป็นเรื่องที่ดีค่ะ”

** ดูงานเมืองไทยก็ได้ประโยชน์
และไล่หลังทริปสิงคโปร์ราว1สัปดาห์ ก็ถึงทีของกลุ่มนศ.ที่ไปดูงานในประเทศ โดยม.เลือกบริษัท NYK ยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกแห่งอาณาจักรนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเป็นแหล่งดูงาน งานนี้ “โอเน่” หรือวรวุฒิ ภวภูตานันท์ หนึ่งในนศ.ที่เลือกไปดูงานที่นี่เปิดเผยว่า ที่ไม่ได้ไปดูงานที่สิงคโปร์เนื่องจากเป็นช่วงที่งานเยอะทำให้ไม่สามารถลางานได้ จึงตัดสินใจเลือกดูงานในประเทศไทย

“NYK เป็นบริษัทขนส่งขนาดใหญ่ มีสาขาทั่วโลก ทำโลจิสติกส์โดยขณะนี้ทำให้กับนิสสัน ในการส่งอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์จากไทย ไปญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา รวมถึงส่งรถยนต์ประกอบแล้วด้วยเพราะมีเรือเดินทะเลเป็นของตัวเอง ทางบริษัทดีมากๆ วิทยากรบรรยายให้ความรู้แน่น และเปิดโอกาสให้เราได้ดูในส่วนที่คนธรรมดายากจะเข้าไปดู อย่างในโรงงานผลิตของเขา กรรมวิธี และขั้นตอนการแพคสินค้าก่อนจะส่งเข้าคอนเทนเนอร์ รวมไปถึงการพาไปดูถึงท่าเรือ ไปดูเรือเดินทะเลที่เขาใช้ขนส่งรถยนต์ประกอบแล้ว”

วรวุฒิ กล่าวอีกว่า เขาได้พูดคุยกับเพื่อน ทั้งที่ไปสิงคโปร์และไปแหลมฉบังด้วยกันว่า การไปดูงานที่แหลมฉบังของเขาในครั้งนี้ ตรงตามทฤษฎีการจัดการที่เขาเรียนมาชนิด “ตรงเป๊ะ” เลยทีเดียว

“ตรงนะครับ ตรงมาก ผมยังคุยกับเพื่อนเลยว่า เฮ้ย นี่ที่เราเรียนมาเลยนี่หว่า เพราะผมเรียนทฤษฎีการจัดการเรื่องการเพิ่มผลผลิตด้วย และการจัดการโลจิสติกด้วย ถามว่าเสียดายไหมที่ไม่ได้ดูงานสิงคโปร์ ก็เสียดายนะ แต่เวลามันไม่ได้ แต่ประโยชน์ที่ได้จากแหลมฉบังมันก็ดีไม่น้อยไปกว่ากัน แต่นี่คือไปฟรี มหาวิทยาลัยออกให้ แถมให้ทางเลือกเรา คือถ้าไม่มีทางเลือกแล้วจำเป็นต้องไปจริงๆ ก็คงลำบากเพราะผมลาไปไม่ได้ ถามเพื่อนที่ไปแหลมฉบังส่วนใหญ่ติดงาน เวลาไม่ได้ ทำให้ไม่ได้ไปเหมือนกัน ส่วนเพื่อนที่ไปสิงคโปร์แล้วอยากไปที่แหลมฉบัง มหาวิทยาลัยก็ให้ไปนะครับ คือผมว่าดีที่มีทางเลือกที่ดี นักศึกษาได้ประโยชน์และได้ความสะดวกด้วย อันนี้ผมให้เครดิตมหาวิทยาลัยกับแนวคิดนี้ครับ”

***เปิดใจผู้ให้โอกาสดูงานเลือก
ฟังความเห็นของผู้ที่ได้เลือกโอกาสการดูงานไปแล้ว ทีนี้ลองฟังที่มาของแนวคิด “ดูงานเลือกได้” โดย อ.ศิริรัตน์ ภาศักดี รองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพ มทร.รัตนโกสินทร์ ดูบ้าง

“นี่เป็นโครงการดูงานของคณะบริหารธุรกิจ ระดับมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ เราจัดทำเป็นคลาสเล็กๆ เพื่อการสอนที่ทั่วถึง โดยเราเชิญอาจารย์จากธรรมศาสตร์มาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร ถามว่าทำไมเราไม่สอนเอง คำตอบก็คือเราเพิ่งเปิดหลักสูตรจึงอยากได้อาจารย์ความสามารถสูงจากมหาวิทยาลัยระดับประเทศ ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้ความรู้แล้ว ก็เป็นโอกาสของบุคลากรในขณะที่มีความสนใจ ก็จะมีโอกาสพัฒนาตัวเองไปด้วย โดยเราก็มีอาจารย์ของเรา 2-3 ท่าน และบุคลากรหน้าที่อื่นๆ ให้ความสนใจมาสมัครเรียน ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ให้ทุนสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย”

“แนวคิดการให้เลือกไปดูงานได้มันมาจากแต่แรกที่คิดจะเปิดหลักสูตร คือเราไม่อยากเปิดเหมือนที่อื่น เพราะเข้าใจว่าขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี เราไม่อยากเก็บค่าเรียนแพง การคิดค่าเทอมของที่นี่เป็นแบบพอเพียง เราไม่ได้คิดหากำไร เราบริหารรายได้ของเราแบบประหยัด เราโชคดีที่ทรัพยากรบางอย่างเราใช้ร่วมกับระดับปริญญาตรีได้”

อ.ศิริรัตน์ กล่าวอีกว่า ในหลักสูตรไม่มีระบุบังคับให้ไปดูงานต่างประเทศ หากให้นักศึกษาไปก็เหมือนไปบังคับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงเลือกความสมัครใจ ซึ่งหากนักศึกษาต้องการไปดูงานต่างประเทศ มหาวิทยาลัยก็จะไม่โยนภาระค่าใช้จ่ายให้นักศึกษาทั้งหมด แต่จะช่วยออกอีกประมาณคนละ 5,000 บาท ในขณะที่ดูงานในประเทศมหาวิทยาลัยดูแลทุกอย่าง นักศึกษาไม่ต้องจ่ายเงิน

ด้านผศ.ศุภลักษณ์ เลิศแก้วศรี กรรมการดำเนินการหลักสูตรนี้กล่าวถึงแนวคิดการดูงานเลือกได้นี้เนื่องมาจากโครงการเข้าใจสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ จึงไม่ได้เรียกเก็บค่าดูงานต่างประเทศในค่าเทอมตั้งแต่ต้น ซึ่งหากนักศึกษาสมัครใจไปดูงานต่างประเทศก็ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่มหาวิทยาลัยมีงบสนับสนุนสมทบให้

ส่วนประโยชน์ที่ได้มันต่างกัน อย่างนักศึกษาที่เลือกไปต่างประเทศ เขาจะได้เปิดหูเปิดตา ได้เห็นบ้านเมืองอื่น ได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษ ได้ประสบการณ์ที่ปกติไม่ได้พบ แต่มันก็อาจจะมีข้อจำกัดบ้าง ตรงที่ฟังบรรยาย เพราะเขาบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ก็อาจจะเก็บไม่ได้ทั้ง 100% ส่วนนักศึกษาที่เลือกดูงานในไทย อาจจะพบกับวิวเดิมๆ ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ไม่ได้ประสบการณ์ในการเดินทางมากนัก แต่เรื่องการฟังบรรยายกลุ่มนี้จะได้ความรู้ 100% ก็จะเป็นข้อดีที่ต่างกันออกไป
คณาจารย์และนักศึกษาที่บริษัทOSIM ประเทศสิงคโปร์
ในห้องบรรยายของบริษัท OSIM
ทริปดูงานที่แหลมฉบัง
กำลังโหลดความคิดเห็น