xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” สั่งเช็กโรงเรียนแตกแถวเรียนฟรีหลังโดนร้องเรียนอื้อ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศธ.
“จุรินทร์” เช็กโรงเรียนแตกแถวนโยบายเรียนฟรี 15 ปี หลังมีผู้ร้องเรียนเพียบ สพฐ.มีเรื่องร้องเรียน 144 เรื่อง จาก 115 โรง ส่วนสอศ.มี 9 วิทยาลัย สำหรับ สช.ยังไม่มีการร้องเรียน แต่ให้โรงเรียนสังกัด สช.ให้แจงค่าเทอม ย้ำต้องเก็บลดกว่าปีก่อนร้อยละ 10 เพราะรัฐอุดหนุนเพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุม 5 องค์กรหลักว่า ให้องค์การหลักไปติดตามความคืบหน้าโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากมีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งร้องเรียนเข้ามาถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในส่วนของ สพฐ.มีร้องเรียน 144 เรื่องจาก 115 โรง และโรงเรียนสังกัด สพฐ.มีกว่า 32,000 โรง อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามานั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้มีการติดตามเรื่องการเก็บเงินเพิ่มจากระเบียบที่ได้กำหนดไว้ เมื่อสำรวจแล้วในโรงเรียนทั้งหมด 100% ใน กทม.นั้น มีการเก็บเงินสูงกว่าปีที่แล้ว 5% ซึ่งมี 5 โรงในจำนวน 100 โรง ทั้งนี้จะติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ทาง สพฐ.จะรายงานเข้ามาว่าดำเนินการไปอย่างไรบ้าง

ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับการร้องเรียนมา 9 แห่งจาก 404 แห่ง แต่ตนขอให้ สอศ.ติดตามตรวจสอบทุกวิทยาลัยว่าได้มีการปฏิบัติตามนโยบายหรือไม่ และให้รายงาน รมว.ศธ.ภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับ 9 แห่งที่ได้รับการร้องเรียนในเบื้องต้นได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เช่น วิทยาลัยไม่ได้จ่ายเงินสด ค่าชุดนักศึกษา นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ร้องเรียนที่ จ.อุบลราชธานี มีเด็กคนหนึ่งไม่ได้รับเงินค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าเด็กไม่มีใบ รบ.มาแสดง ทางวิทยาลัยไม่กล้าจ่ายเงินให้ พอเด็กนำใบ รบ.มาแสดงวิทยาลัยก็จ่ายเงินให้แล้ว

สำหรับ สช.ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามา แต่เมื่อมีโครงการเรียนฟรี 15 ปีแล้วรัฐยังได้จัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่ม จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองจะจ่ายเพียง ร้อยละ 30 เท่านั้น อย่างไรก็ตามให้ สช.ติดตามโรงเรียนในสังกัดกว่า 300 โรง ลดค่าเล่าเรียนหรือยัง พร้อมกับให้เปรียบเทียบค่าเล่าเรียนปีที่แล้วกับเทอมนี้ว่าลดลงจำนวนเท่าไหร่ และถ้าพบว่าโรงเรียนใดไม่ลดค่าเทอม หรือเก็บเต็มทางโรงเรียนจะต้องจ่ายคืนให้แก่ผู้ปกครอง

“เหตุผลที่ให้โรงเรียนแต่ละแห่งเปรียบเทียบค่าเทอมกับปีที่ผ่านมา เพราะต้องการเห็นว่าค่าเทอมลดจริงๆ เพราะรัฐบาลอุดหนุนเพิ่มให้ร้อยละ 10 และตนต้องการเห็นว่าค่าเทอมลดจริง หากโรงเรียนเก็บเท่าเดิมและไม่ลดค่าเทอม จะให้ สช.ดำเนินการตามระเบียบ สช.”

นายจุรินทร์กล่าวว่า ปรากฏประเด็นข่าวที่ จ.กาญจนบุรี 2 โรงว่ามีการเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา ที่คิดว่าจะนอกเหนือกฎระเบียบ ซึ่งมอบให้เลขาฯ กพฐ.ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง ส่วนกรณีโรงเรียนสวนกุหลาบ นนทบุรี ประท้วงของผู้ปกครองเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้องเรยนว่าเด็กยังไม่ได้รับหนังสือเรียน ตนให้ สพฐ.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีมูลจะดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป

“ทั้งหมดนี้ต้องการให้ทุกอย่างดำเนินไปตามนโยบายของรัฐบาล กฎระเบียบของ ศธ. อย่างไรก็ตาม ได้ชี้แจงให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ และผู้บริหารสถานศึกษารับทราบไปแล้ว แม้ว่าปัญหาจะมีส่วนน้อย แต่ก็กำชับให้ดำเนินการตามระเบียบ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องทีร้องเรียนมีอะไรบ้าง นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับสังกัด สพฐ.มีร้องเรียนมา 144 เรื่อง จาก 115 โรง มีเรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษา 40 เรื่อง การระดทมทรัพยากร 11 เรื่อง เก็บค่าห้องเรยนพิเศษ เช่น ภาษาต่างประเทศ 2 เรื่อง ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าจ้างครู ค่าสาธารณูปโภค ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าทัศนศึกษา 36 เรื่อง ค่าใช้จ่ายเสริมสวัสดิการสวัสดิภาพ เช่น ประกันชีวิต ค่าตรวจสุขภาพนักเรียน 33 เรื่อง และค่าใช้จ่ายซื้อชุดนักเรียน ซึ่งทางโรงเรียนแจกเป็นคูปอง แทนเงินสด 14 เรื่อง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าผิดระเบียบทั้งหมด แต่ สพฐ.ต้องไปสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าโรงเรียนใดทำผิดระเบียบจะต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป นี่คือปัญหา 115 โรงจาก 32,000 โรง ไม่อยากให้มองว่ามีปัญหาทั้งหมด อย่างไรก็ดี พบว่ามีปัญหาฝ่ายใดจะดำเนินการตามขั้นตอน เพราะ ศธ.ได้ชี้แจงให้ ผอ.สพท. และผู้บริหารสถานศึกษา รับทราบโดยทั่วถึงแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การร้องเรียนส่วนใหญ่เกิดเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหรือเปล่า คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอบว่า มีโรงเรียนดัง โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ และโรงเรียนวิษณุรังษี ที่ตรวจสอบพบว่ารายการที่จัดเก็บเป็นไปตามเกณฑ์ เพียงแต่ว่า สพฐ.จะแบ่งว่า เก็บได้กับเด็กทุกคน มี 2 รายการ ครูต่างประเทศ และรายการที่เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองอาจไม่ทราบว่า บางรายการพึ่งจ่าย บางรายการเขาเลือกได้ว่าจะรับบริการหรือไม่ ซึ่งโรงเรียนมักจะเรียกเก็บพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม รายการที่ผู้ปกครองพึ่งจ่ายมีอยุ่ 4 รายการ ค่าเรียนกับครูชาวต่างชาติ ค่าปรับพื้นฐาน ค่าพัฒนาตามความสมัคร ค่าพัฒนาตามความถนัด เช่น ว่ายน้ำ ดนตรี ค่าจ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งค่าจ้างเหล่านี้สามารถเรียกเก็บกับทุกคนแต่ต้องไม่เกิน 1 พันบาท ซึ่งปีที่แล้วจะเก็บได้ไม่เกิน 2 พันแต่ปีนี้ไม่เกิน 1 พัน

พร้อมกันนี้ ได้สั่งให้ ผอ.สพท.ติดตามเรื่องเงิน เพราะมีการร้องเรียนร้องเงิน จึงต้องการให้ติดตามเรื่องเพื่อความกระจ่าง และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะตรวจสอบเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเงิน ที่เป็นมูลเหตุที่ผู้ปกครองร้องเรียน

กำลังโหลดความคิดเห็น