นักวิชาการเผย คนไทยซื้อยานอกแพงกว่าสากล 6-9 เท่า เหตุเพราะผูกขาดตลาดด้วยสิทธิบัตร รวมถึงผลิตยาในไทยก็แพงกว่าสากล 2-3 เท่า ขณะที่ซื้อผ่านหน่วยงานรัฐแพงกว่าสากล 1-4 เท่า ภาคเอกชนซื้อแพง 1-8 เท่า โดยเฉพาะยามะเร็งเม็ดเลือดขาว ราคาไทยเทียบจีดีพีแพงกว่าสหรัฐฯ สวิส หลายเท่า เอ็นจีโอเตรียมตบเท้าไปสภาอีก ค้านแก้มาตรา 190 ส่วนหนึ่งทำยาแพง หลังล่าหมื่นรายชื่อแล้วเงียบ ชี้ ข้อมูลเจรจาระหว่างไม่เปิดเผย น่าห่วง
วานนี้ (27 พ.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยและเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการจัดราชดำเนินเสวนา “การเข้าถึงยาของคนไทย ทำไมใช้ยาแพง” ว่า จากข้อมูลของนักวิชาการได้ทำการสำรวจราคายาที่ผลิตในประเทศ และต่างประเทศที่จำหน่ายในประเทศไทย พบว่า มีราคาแตกต่างกับราคายาที่ขายในต่างประเทศหลายเท่า เพราะเนื่องจากการผูกขาดตลาดด้วยการจดสิทธิบัตรตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
ภญ.จิราพร กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบราคายาต่างชาติที่ผู้ป่วยซื้อจากสถานพยาบาลภาครัฐแพงกว่าสากลถึง 6.28 เท่า ส่วนยาต่างชาติที่ผู้ป่วยไทยซื้อจากภาคเอกชนแพงกว่าถึง 9.01 เท่า ส่วนผู้ป่วยไทยซื้อยาไทยจากภาครัฐแพงกว่าสากล 2.76 เท่า ส่วนผู้ป่วยไทยซื้อยาไทยจากภาคเอกชนแพงกว่าสากล 3.21 เท่า และเมื่อเทียบราคายาต่างชาติที่จัดซื้อผ่านหน่วยงานภาครัฐจะแพงกว่าราคาที่สากลซื้อถึง 4.67 เท่า ส่วนภาพเอกชนจัดซื้อแพงกว่าสากล 7.79 เท่า ส่วนการจัดซื้อยาไทยของหน่วยงานภาครัฐแพงกว่าสากล 1.15 เท่า ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนซื้อยาไทยแพงกว่าสากล 1.48 เท่า
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ได้ศึกษาเปรียบเทียบราคายารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวริทูกซิแม็บของ บริษัท โรช จำกัด(ประเทศไทย) ที่จำหน่ายในไทยกับอีก 8 ประเทศ อาทิ บราซิล เยอรมนี อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศผู้ผลิต พบว่า ราคาที่จำหน่ายในไทยถูกสุดคือ 62,814 บาทต่อโดส แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) และความเท่าเทียมกันในการซื้อยา พบว่า ไทยมีค่าใช้จ่ายมากสุด คือ 3.71 เท่าของจีดีพี แต่บราซิลมีเพียง 3.2 เท่าของจีดีพี หรือสหรัฐฯมี 0.48 เท่าของจีดีพี หรือสวิตเซอร์แลนด์ มีเพียง 0.28 เท่าของจีดีพีเท่านั้น
“ดังนั้น มาตรการทางด้านสิทธิบัตรควรเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลใช้ในการต่อรองกับสหรัฐฯ ไม่ใช่เห็นกับประโยชน์ทางด้านการค้าที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเพียงบางกลุ่ม โดยละเลยความทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงยาเพื่อต่ออายุของเขาเหล่านั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นท่าทีที่เข้าอกเข้าใจและเห็นแก่คนทุกข์ยากของรัฐบาลชุดนี้” นพ.พงศธร กล่าว
พญ.วันดี โภคะกุล นายแพทย์ 10 ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบเงินที่ใช้ในการซื้อยาของไทยพบว่า 45 บาท ซื้อยาที่ผลิตภายในประเทศ ซื้อได้ไม่ถึง 1 เม็ด ขณะที่ 55 บาท เป็นยาจากต่างประเทศ แต่สามารถซื้อได้ถึง 200 เม็ด ทั้งนี้ กำไรของบริษัทยา 10 อันดับแรกมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา แต่กลับตั้งงบเป็นเงิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 11% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนงบในการโฆษณาต่างจัดสรรให้มากถึง 27% ของงบทั้งหมด
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ในวันที่ 28 พ.ค.มูลนิธิพร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 100 คน จะเดินทางเข้าพบ นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เพื่อคัดค้านการแก้ไขมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เนื่องจากมาตราดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาระหว่างรัฐที่ต้องเปิดเผยต่อสภา ให้สาธารณชนรับทราบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ไทย-สหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิบัตรยา ทำให้มีผลต่อราคายาที่จะสูงขึ้นจากการผูกขาดตลาดยานี้ด้วย
“หากเราไม่สามารถทราบเนื้อหาที่รัฐไทยจะดำเนินการกับต่างชาติ เช่น ทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ โดยที่สาธารณชนไม่ทราบอาจทำให้เราไม่สามารถใช้มาตรา 51 ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2535 ที่เป็นช่องให้เราหายใจในการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ได้อีกเลย ดังนั้น นักการเมืองอาจเสียดายผลประโยชน์ แต่เมื่อเทียบผลประโยชน์ของประเทศชาติแล้วมันต่างกันมาก และไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว การเดินทางไปพบนายสามารถในครั้งนี้จะเป็นการทวงถามด้วยว่า รายชื่อของประชาชน 1 หมื่นรายชื่อไปตกหล่นที่ใด และหากฝ่ายการเมืองบรรจุวาระก็จำเป็นต้องบรรจุวาระของภาคประชาชนด้วยเช่นกัน”นายนิมิตร์ กล่าว