xs
xsm
sm
md
lg

พม.ผสาน สตช.ระดมตำรวจสายตรวจสำรวจ-แก้ปัญหาความรุนแรงหญิงและเด็กในครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พม.จับมือ สตช.ระดมตำรวจสายตรวจหมู่บ้าน สำรวจทุกครัวเรือน ลุยแก้ปัญหา พร้อมติดตามผลความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ด้าน ผอ.สค.เผยองค์การอนามัยโลกประมาณการทุก 15 วินาที หญิงสาวทั่วโลกถูกข่มขืน 20 ราย

วันนี้ (27 พ.ค.) ที่สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 จำนวน 600 คน เข้าร่วมสัมมนา

พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า จากพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา องค์ทูตสันถวไมตรียูนิเฟม ให้ทุกภาคส่วนของรัฐ เอกชน ช่วยขับเคลื่อน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องการให้ยกระดับประเด็นยุติความรุนแรงต่อหญิงและเด็กเป็นวาระแห่งชาติ และทรงเห็นว่ามาตรการทางกฎหมายเป็นวิธีการหนึ่งของการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การจัดสัมมนาตำรวจทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการ เพราะตำรวจถือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 3 และ 10 ของกฎหมายนี้ โดย รมว.พม.จะเป็นผู้แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าเคหสถานได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นเช่นเดียวกับคดียาเสพติด

พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องผัวเมียเท่านั้น ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวพบปีละ 10,000 กว่าราย ยังมีที่ไม่มีใครรู้เห็นอีกมาก โดยโครงสร้างตำรวจ 2 แสนนาย มีตู้ยามสายตรวจทุกหมู่บ้าน จะต้องรู้จักทุกครัวเรือน และทราบดีว่าบ้านไหนมีปัญหาเสี่ยง ต้องสำรวจแต่ละครัวเรือนและเข้าไปดำเนินการ โดยหลักการ คือ บำบัดเยียวยาผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ พร้อมทั้งติดตามผล ซึ่งพบว่ามีผู้เข้ารับการบำบัดมากขึ้น และคดีความรุนแรงถึงตำรวจน้อยลง


ด้าน นายศุภฤกษ์ หงส์ภักดี ผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประมาณการว่ากว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยถูกทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายทางเพศ และ ทุก 15 นาที มีผู้หญิงทั่วโลกถูกข่มขืนถึง 20 ราย ขณะที่ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งตำรวจเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินคดี นำไปสู่การบำบัดเยียวยาปัญหา ขณะนี้มีพนักงานสอบสวน หัวหน้าสถานีตำรวจ และพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั่วประเทศได้รับการอบรมตามกฎหมายนี้กว่า 5,000 คนแล้ว อยากฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายให้สถานีตำรวจทุกแห่งให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น