ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – “หลินฮุ่ย” หมีแพนด้าตัวเมีย ทูตสันถวไมตรี ไทย-จีน มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะตั้งท้อง หลังอัลตราซาวนด์พบมดลูกขยายตัว และมีภาพลักษณะคล้ายตัวอ่อน เตรียมประสานผู้เชี่ยวชาญจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจซ้ำ เพื่อรอยืนยัน
วันนี้ (11 พ.ค.) นายโสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำ ทีมงานสัตวแพทย์ของสวนสัตว์เชียงใหม่ ทำการอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจหาการตั้งท้องของ “หลินฮุ่ย” หมีแพนด้าตัวเมีย หลังจากที่ทำการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อของ “ช่วงช่วง” หมีแพนด้าตัวผู้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 และที่ผ่านมา พบว่า “หลินฮุ่ย” แสดงพฤติกรรมหลายอย่างที่ดูคล้ายการตั้งท้อง เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น กินอาหารมากขึ้น มีการนอนพักผ่อนมากขึ้น ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนซึ่งบ่งบอกถึงแนวโน้มการตั้งท้องเพิ่มสูงขึ้น เต้านมมีการเต่งตึงและเปลี่ยนเป็นสีชมพู เป็นต้น
ผลจากการอัลตราซาวนด์ เบื้องต้นพบมดลูกของ “หลินฮุ่ย” มีการขยายขนาดเพิ่มขึ้น จากปกติที่มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ก็ขยายตัวใหญ่ขึ้น 2-3 เท่าตัว นอกจากนี้ ยังพบภาพที่ดูคล้ายตัวอ่อนของหมีแพนด้า เพราะมีการขยับตัว อย่างไรก็ตาม เวลานี้ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นตัวอ่อนหรือว่าเป็นเส้นเลือดที่เข้าไปเลี้ยงมดลูกของ “หลินฮุ่ย” กันแน่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบเพื่อยืนยันด้วยการอัลตราซาวนด์โดยผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งในเร็วๆ นี้
ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการอัลตร้าซาวด์แม้จะพบว่ามีความเป็นไปได้มากที่ “หลินฮุ่ย” จะตั้งท้อง เพราะพบว่ามดลูกมีการขยายตัว และพบภาพที่คล้ายตัวอ่อน รวมทั้งในช่วงนี้ก็พ้นระยะการตั้งท้องเทียมที่มีระยะเวลาประมาณ 60 วัน หลังการตกไข่ไปแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการตั้งท้องจริงหรือไม่ ทั้งนี้ จะทำการประสานกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีข้อตกลงความร่วมมืออยู่กับองค์การสวนสัตว์ฯ เพื่อนำผู้เชี่ยวชาญมาทำการอัลตราซาวนด์ตรวจสอบการตั้งท้องของ “หลินฮุ่ย” อีกครั้ง ในอีกประมาณ 1 สัปดาห์ข้างหน้า
“ตามปกติหมีแพนด้าจะมีช่วงตั้งท้องเทียมอยู่ในช่วงประมาณ 60 วัน หลังการตกไข่ เหมือนที่เราเคยเจอมาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถึงเวลานี้ได้เกินช่วงการตั้งท้องเทียมมาแล้ว ทางองค์การสวนสัตว์ฯ จึงได้มีการทำอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจสอบการตั้งท้อง โดยเบื้องต้นพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่หลินฮุ่ยจะตั้งท้อง แต่ยังต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญให้แน่ชัดอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อยืนยัน” นายโสภณ กล่าว
สำหรับการเตรียมความพร้อมการทำคลอดและเลี้ยงดูลูกหมีแพนด้า นายโสภณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ส่งทีมงานสัตวแพทย์ไปเรียนรู้วิธีการทำกคลอดและการเลี้ยงดูลูกหมีแพนด้าจากผู้เชี่ยวชาญที่ประเทศจีน รวมทั้งได้มีการเตรียมความพร้อมต่างๆ ไว้เป็นอย่างดีแล้ว จึงเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยหากประสบความสำเร็จในการให้กำเนิดลูกหมีแพนด้าตัวแรกในประเทศไทย เชื่อว่า จะยิ่งกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน ให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และอาจจะมีการขยายระยะเวลาที่จีนให้ไทยยืมหมีแพนด้าเพื่อการวิจัยและจัดแสดงออกไปอีก จากเดิมที่ตกลงกันไว้ที่ 10 ปี
ขณะที่ สัตวแพทย์หญิง กรรณิการ์ นิ่มตระกูล สัตวแพทย์ประจำโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย กล่าวว่า การอัลตร้าซาวด์ครั้งนี้พบมดลูกของ “หลินฮุ่ย” ขยายตัว และพบจุดที่มีการขยับ แต่เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นหลอดเลือด หรือว่าหัวใจของตัวอ่อน ซึ่งหลังจากนี้เป็นต้นไปจะมีการอัลตร้าซาวด์ “หลินฮุ่ย” เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ กว่าจะแน่ใจว่าตั้งท้องหรือไม่ หากพบว่าตั้งท้องก็จะมีการอัลตราซาวนด์ถี่ขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลทั่วโลกพบว่าแม้หมีแพนด้าจะตั้งท้อง แต่บางครั้งการอัลตราซาวนด์ก็ไม่พบตัวอ่อน จนกระทั่งใกล้คลอด ซึ่งโดยเฉลี่ยมักจะอัลตร้าซาวด์พบในช่วงตั้งท้องแล้ว 4 เดือน จากปกติที่หมีแพนด้าจะตั้งท้อง 5 เดือนก่อนคลอด ซึ่งหาก “หลินฮุ่ย” ตั้งท้องก็อาจจะตรวจพบตัวอ่อนได้ในช่วงปลายเดือนหน้าก็เป็นได้
สำหรับ “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” สองหมีแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่นั้น เป็นทูตสันถวไมตรี ไทย-จีน ซึ่งทางการจีนอนุญาตให้นำมาวิจัยและจัดแสดงในประเทศไทยอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่เป็นเวลา 10 ปี โดยหมีแพนด้าทั้งคู่ได้ถูกส่งตัวมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเครื่องบิน เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2546 ท่ามกลางพิธีต้อนรับที่มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่