นักวิชาการรุมค้าน แนวคิดจำลองปราสาทพระวิหารฝั่งไทย อีโคโมสจวกหากสร้างจริงเท่ากับหลอกตัวเอง บิดเบือนข้อเท็จจริง แนะเอาเวลาไปพัฒนามรดกโลกแหล่งอื่นดีกว่า
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงกรณีมีประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เสนอแนวคิดให้สร้างปราสาทพระวิหารขึ้นในฝั่งประเทศไทย บริเวณผามออีแดง จ.ศรีสะเกษ หรือพื้นที่ใกล้เคียงว่า ยังไม่มีหน่วยงานใดติดต่อมายังกรมศิลป์ แต่หากติดต่อมาต้องสอบถามถึงความเหมาะสมและรายละเอียดในการสร้างปราสาทดังกล่าว เนื่องจากการสร้างปราสาทต้องมีเหตุผล และมีคุณค่าทางจิตใจ และหากมีการจำลองขึ้นมาจริง ควรจำลองในรูปแบบของการให้ความรู้ เช่น วิธีการสร้าง รูปแบบสถาปัตยกรรม ความหมายของการสร้างปราสาท น่าจะมีประโยชน์กว่า
นายศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว มองว่าเป็นเรื่องตลกมาก ที่สำคัญมองไม่เห็นประโยชน์ของการจำลองปราสาทพระวิหารมาสร้างในประเทศไทย และที่เสนอให้สร้างบริเวณผามออีแดง ตนเห็นว่าจะเป็นการทำลายสภาพแวดล้อม ความงดงามของสถาปัตยกรรม และคุณค่าทางประวัติศาสตร์บริเวณดังกล่าวมากกว่าที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้นอยากให้ล้มเลิกความคิดดังกล่าวและหันไปพัฒนาพื้นที่ผามออีแดงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพดีกว่า ส่วนข้อพิพาทกรณีปราสาทพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อนก็อยากจะให้รัฐบาลจริงจังและมีจุดยืนในการแก้ปัญหาโดยไม่โน้มเอียงตามกระแสการเมือง
นายวสุ โปษยะนันทน์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติ ว่าด้วยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (อีโคโมสไทย) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยและมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น การทำเช่นนี้จะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการหลอกตัวเอง และไม่ได้เกิดผลดีต่อประเทศเลย
ต่อให้สร้างปราสาทพระวิหารในฝั่งไทยให้ใหญ่โตกว่าของจริง หรือสวยงามแค่ก็ตาม ในความจริงเป็นปราสาทพระวิหารก็ตั้งอยู่บริเวณเขาพระวิหาร เส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่กำลังเป็นข้อพิพาทจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงความจริงได้ ทั้งนี้ ตนมองว่าหากจะพัฒนาให้โบราณสถานแหล่งท่องเที่ยว ควรที่จะไปพัฒนาโบราณสถานที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว รวมทั้งโบราณสถานที่อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า