xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ฯ แจ้งชะลอทุบตึกศาลยุติธรรมหลังเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมศิลป์ฯ แจ้งศาลยุติธรรมชะลอทุบอาคารเก่าใกล้สนามหลวง ชี้แม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่มีอายุมากกว่า 50 ปีเท่ากับมีคุณค่าประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวได้ เสนอขอขึ้นทะเบียนป้องกันการทุบทำลาย-เป็นคลังความรู้

นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการที่ศาลยุติธรรม จะทำการทุบทำลายอาคารศาลยุติธรรมหลังเก่า แล้วดำเนินการสร้างอาคารหลังใหม่ บริเวณใกล้กับท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนินในนั้น ขณะนี้กรมศิลปากร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาชิกอิโคโมสไทย ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานดังกล่าวให้ชะลอการทุบอาคารศาลยุติธรรมแล้ว เนื่องจากเห็นว่า เป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของศาลในยุคต่างๆที่ได้มาใช้งานได้เป็นอย่างดี และเป็นอาคารที่อยู่คู่กับท้องสนามหลวงมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี ในขณะเดียวกัน กรมศิลปากร ได้สำรวจตัวอาคารแล้ว พบว่า อาคารศาลยุติธรรม มีการทับซ้อนของอาคารเก่าที่มีอายุเกิน 50 ปี และอาคารที่มีการสร้างต่อเติมใหม่ซึ่งอายุไม่ถึง 50 ปี

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปว่า อาคารศาลยุติธรรม ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานกับกรมศิลปากร แต่ก็ถือเป็นโบราณสถานได้ เพราะอายุถึง 50 ปี ส่วนการดำเนินการใดๆ กับอาคารที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับ เจ้าของอาคาร ดังนั้น กรมศิลปากร จึงต้องร้องขอไปยังศาลยุติธรรมให้พิจารณาถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่จะเสียไป นอกจากนี้ ตนได้วางแนวทางการป้องกันการทุบทำลายอาคารประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญไว้ 2 แนวทาง คือ 1.อาคารที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว จะดำเนินการติดป้ายประกาศว่า เป็นโบราณสถาน และทำประวัติความเป็นมาให้ผู้เข้าชมได้ศึกษา 2.อาคารที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแต่มีอายุถึง 50 ปี จะประสานกับทางเจ้าของอาคาร ขอนำป้ายว่าโบราณสถานไปติดให้คนเห็นความสำคัญและไม่ทุบทำลายด้วย

“ปัจจุบันนี้ หลายหน่วยงานได้มีการทุบทำลายอาคารประวัติศาสตร์ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อาคารที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆสูญหายไป รวมทั้งเป็นการสูญเสียคุณค่าทางจิตใจ สูญเสียคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไป เพราะบางอาคารอาจจะผูกพันกับผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากร จะต้องมีการให้ความรู้ในเรื่องอาคารสำคัญ และให้คนไทยเห็นความสำคัญของอาคารเก่า ซึ่งในประเทศที่ยังคงอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ไว้เป็นอย่างดี จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้ผู้คนได้ไปเยี่ยมชม ศึกษาหาความรู้”อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น