xs
xsm
sm
md
lg

“ครูหยุย” วอนอย่าโยนบาปผู้ปกครอง ต้นเหตุเด็กฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
“ครูหยุย” วอนอย่าโยนบาปผู้ปกครองต้นเหตุทำให้เด็กป.6 โดดตึกฆ่าตัวตาย เชื่อเด็กสะสมปัญหาหลายเรื่องก่อนตัดสินใจ แนะสังเกตสัญญาณอันตรายก่อนเด็กคิดฆ่าตัวตาย ฝากผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด มีจิตสงสัยดูแลพฤติกรรมลูกตลอดเวลาช่วยแก้ปัญหาได้

วันนี้ (22 พ.ค.) นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ในฐานะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีเด็กชั้น ป.6 กระโดดตึกฆ่าตัวตายว่า ไม่อยากให้โยนบาปว่าเด็กถูกผู้ปกครองดุจนไปกระโดดตึกตาย เพราะเท่านี้ผู้ปกครองก็เจ็บช้ำมากแล้ว การที่เด็กตัดสินใจกระโดดตึกถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้ว น่าจะเกิดจากการสะสมปัญหามาหลายอย่าง ทั้งจากเพื่อน โรงเรียนและครอบครัว เก็บสะสมไว้ การถูกดุด่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของทั้งหมด แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่เป็นแรงผลักดันให้เด็กทำต้องสะสมมาหลายเรื่อง ยกเว้นเด็กไปเล่นหรือเลียนแบบแล้วเกิดพลาดพลั้งไป

นายวัลลภกล่าวต่อว่า พฤติกรรมเด็กที่จะคิดฆ่าตัวตายนั้นสามารถจับสิ่งสังเกตที่เป็นสัญญาณบอกเหตุได้ 3 ลักษณะ คือ 1.คำพูด เช่น “อยากตายไม่อยากมีชีวิตอยู่” 2.พฤติกรรมที่ผิดไปจากเดิม เช่น ซึมเศร้าจนน่าตกใจเพราะคิดคับแค้นถึงแต่เรื่องตัวเองจนสุดท้ายระเบิดออกมา และ 3.คนที่เคยมีประวัติทำสิ่งที่ไม่ยั้งคิด หรือทำในสิ่งที่ไม่คาดคิด เช่น นำสุนัขโยนเข้ากองไฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดจากมนุษย์ทั่วไปทำกัน จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ทำอะไรแบบใช้อารมณ์ชั่ววูบได้ง่าย ซึ่งคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะรู้และจับสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้ได้ดี

“การฆ่าตัวตายทุกกรณีจะมีสัญญาณบอกเหตุ รายนี้เด็กก็ส่งเอสเอ็มเอสบอกเพื่อนนักเรียน ซึ่งอย่าคิดว่าเป็นเรื่องตลกล้อเล่น ต้องระวัง หากเด็กพูดหรือส่งสัญญาณแบบนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเด็กผ่านกลไกการสั่งสมปัญหาจากสื่อ การเล่นเกม ผลวิจัยที่ผ่านมาชี้ชัดเจนว่าการเรียนรู้ความรุนแรงจากสื่อ มีผลให้เกิดความรุนแรง 2 กรณี คือ ความรุนแรงต่อตนเอง จะทำสิ่งที่ตัวเองสะใจ เช่น ใช้มีดกรีดตัวเองว่าตัวเองเลวไม่มีใครรักจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย และความรุนแรงต่อผู้อื่นจะพบมากที่สุด เพราะสื่อและเกมที่เด็กซึมซับจนซึมลึกจะเป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อเอาชนะ และเป็นธรรมชาติความรุนแรงที่จะรอจังหวะการใช้ความรุนแรง หากดูแต่เรื่องยิงเด็กจะสนใจการยิง หรือสนใจเรื่องราวของอาวุธเด็กก็จะสนใจความรุนแรงจากอาวุธ ทั้งนี้อยากเรียกร้องให้ผู้ปกครองเชื่อว่าการอยู่กับเกม ความรุนแรงทำให้เด็กใช้ความรุนแรงตามมา จึงต้องหาแนวร่วมกันในการจัดเรตติ้งเกมเหมือนต่างประเทศหรือทำให้ความรุนแรงลดลง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือ พ่อแม่ต้องใกล้ชิดลูก ฝึกให้มีจิตสงสัยในการดูแลลูก ไม่ใช่การกักขัง ก็จะรู้และแก้ปัญหาเด็กได้” ครูหยุยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น