xs
xsm
sm
md
lg

วธ.เต้น! เตรียมเปิดศูนย์แก้เด็กติดเกม เผยครอบครัว “เด็กโดดตึก” ไม่อบอุ่นนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ล้อมคอก “เด็กโดดตึกตาย” วธ.เตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาเด็กติดเกมและสื่อต่างๆ ครบวงจร รวมเจ้าหน้าที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องด้านสังคม ร่วมแก้ปัญหาสำหรับเยาวชน ผ่านสายด่วน 1765 และ www.me.in.th ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังชี้อย่าเพิ่งฟันธงเหตุเพราะเกม เผยพบข้อมูลครอบครัวเด็กไม่อบอุ่นนัก พ่อ แม่ ทะเลาะกันเกือบทุกวันและไม่มีเวลาดูแลลูกและลูกสะสมความทุกข์ไว้ หนีไปเล่นเกมและโดนดุ ด้านปลัด ศธ.เน้นผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ ดูแลช่วยเหลือนักเรียน ป้องกันปัญหาเด็กติดเกมอย่างเข้มแข็ง เน้นเป็นรายบุคคล รู้นิสัย ภูมิหลัง จัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์


นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงกรณีเด็กนักเรียนชั้น ป.6 กระโดดตึกเสียชีวิตว่า ได้มอบหมายให้วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการไปติดตามแล้ว ทราบว่าเกมเป็นส่วนหนึ่ง แต่จากข้อมูล ครอบครัวนี้ไม่อบอุ่นนัก มีปัญหาครอบครัวอยู่บ้าง เพราะเด็กได้เขียนจดหมายทิ้งไว้ ในลักษณะว่าหากจากไปแล้วจะไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวในการส่งเสียเล่าเรียน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ พบว่าในหลายครอบครัวในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคทุนนิยมที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน แต่ขอแนะนำว่าถ้าครอบครัวใดมีปัญหาลักษณะนี้ อยากให้แก้ปัญหาด้วยความนิ่มนวล

สำหรับปัญหาเรื่องเด็กติดเกมนั้น นายธีระกล่าวว่า เป็นปัญหาของสังคมระดับชาติ แต่ขณะนี้เครื่องมือของกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมแล้ว หลังใช้เวลา 3-4 เดือน ในการเตรียมด้านกฎหมาย และตั้งศูนย์ปฏิบัติการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเปิดตัวในสัปดาห์หน้า เป็นวอร์รูมแก้ปัญหาเด็กติดเกมและสื่อต่างๆ มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงที่เกี่ยวข้องมานั่งทำงานรวมกันและเปิดรับเรื่องร้องเรียนให้ความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1765 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเว็บไซต์ที่มีอยู่คือ www.me.in.th

“ผมขอย้ำว่า มาตรการทั้งหมดที่ วธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินการนั้น เชื่อว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างครอบครัวอบอุ่นของชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ การพูดจาในครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญ หากพ่อ แม่ ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงแล้ว ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นอีกก็ได้ ดังนั้นการที่พ่อแม่ห้ามเด็กเล่นเกมนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ควรสอนให้เด็กเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์”

“ถ้าครอบครัวไหนมีปัญหา ไม่เฉพาะเรื่องเกม โทร.สายด่วน 1765 ได้ ซึ่งต่อไปจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง และเว็บไซต์มีร้องเรียนได้ทั้งเรื่องเกม เรื่องสื่อต่างๆ ซึ่งการทำมาทั้งหมด จะนำไปสู่ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง” นายธีระ กล่าว

ด้าน น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงกรณีมีเด็กนักเรียนชั้น ป.6 กระโดดตึกเสียชีวิต มีการสันนิษฐานว่าสาเหตุมาจากปัญหาการติดเกมว่า จากรายงานเชิงลึกที่ได้รับจากเครือข่ายในพื้นที่ ปัจจัยของเด็กติดเกมที่กระโดดตึก เป็นความซับซ้อนของครอบครัว พ่อ แม่ ทะเลาะกันเกือบทุกวันและไม่มีเวลาดูแลลูกและลูกสะสมความทุกข์ไว้ หนีไปเล่นเกมและโดนดุ กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ขาดได้ง่าย แต่จู่ๆ ปัญหาเรื่องเกมจะทำให้เด็กถึงขนาดฆ่าตัวตายไม่ถึงขนาดนั้น เหมือนผู้ใหญ่จะผูกคอตายไม่ใช่เพราะเป็นโรคติดต่อ แต่เพราะมีหนี้สินและอื่นๆ เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย

“ตู้สี่เหลี่ยมตามใจเขา ให้เล่นได้ตลอดและมีอารมณ์ร่วม แต่ถ้าพ่อ แม่ พูดคุย ให้ความรัก ความอบอุ่น แล้วก็หารือร่วมกัน เล่นเกมถ้าพ่อ แม่ ลงไปเล่นด้วย ก็จะมีการเปิดปิดเวลาให้เขา ทุกอย่างถ้าเด็กไปโดยลำพังโดยที่ขาดความรู้ ความเข้าใจและขาดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ก็จะเตลิด ก็เช่นเดียวกับหนุ่มสาวถ้ามีความรักแล้วเลยเถิด ถ้าสำเร็จก็ดีไปแต่ถ้าอกหักก็นำมาสู่ความสูญเสียทางชีวิตเช่นเดียวกัน” น.ส.ลัดดากล่าว

ขณะที่นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่อยากให้สรุปว่าสาเหตุเด็กตัดสินใจกระโดดตึกเสียชีวิตมาจากการถูกห้ามเล่นเกมโดยตรง น่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องอื่นด้วย ส่วนใหญ่จากการศึกษาปัญหาของเด็กพบว่ามีสาเหตุจากปัญหาครอบครัวมากกว่า เรื่องนี้จะต้องศึกษาอย่างละเอียด และจากการไปเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) ได้รับการขอร้องจากผู้ปกครองของเด็กว่าขอจัดงานศพลูกก่อน เนื่องจากยังอยู่ในภาวะเศร้าโศก

วันเดียวกันนายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นักเรียนชั้น ป.6 กระโดดตึกฆ่าตัวตาย เพราะถูกผู้ปกครองดุว่าและห้ามเล่นเกมว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเทอม ซึ่งผู้บริหาร ครู อาจารย์ต้องหันให้ความสำคัญกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและการแนะแนวให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่เพียงเฝ้าระวังเหตุการณ์ แต่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยต้องดูเป็นรายบุคคล ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง มีการสื่อสารกับผู้ปกครองขณะเด็กอยู่ที่บ้าน จะได้รู้ถึงนิสัยและภูมิหลังของเด็ก

ขณะเดียวกัน พื้นที่เสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยในโรงเรียนจะต้องเข้มงวดการเข้าออกให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การดูแลช่วยเหลือนักเรียนและการแนะแนว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางอารมณ์ของเด็กมักจะไม่ค่อยได้รับความสำคัญจากผู้บริหารสถานศึกษา ดังนั้น กระทรวงฯ จะเสนอให้ผลสัมฤทธิ์การพัฒนาทางอารมณ์ของเด็ก เป็นตัวชี้วัดผลงานของโรงเรียนด้วย

“เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่อาจจะสะสมมายาวนานและอาจจะมีการหลุดรอด ไม่อยู่ในสายตาของครูและผู้บริหารในบางขณะ แต่คงไม่ใช่ความผิดของคนใดคนหนึ่ง เพราะเราจะต้องป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ คือเรื่องของการช่วยเหลือนักเรียนและการแนะแนวให้สำคัญขึ้น ที่ผ่านมาการแนะแนวมักจะพูดในเชิงปฏิบัติ แต่อาจจะยังไม่ได้มีความเข้มแข็งเท่าที่ควร จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช่วยเหลือนักเรียนจำเป็นต้องได้รับความสำคัญจากผู้บริหารสถานศึกษา ให้มีการจัดกิจกรรมให้เข้มแข็ง เท่าเทียมกับการส่งเสริมด้านวิชาการ” ปลัด ศธ.กล่าว และว่าจะนำผลการสัมมนาครั้งนี้สรุปเข้าที่ประชุมผู้บริหาร 5 องค์กรหลักเพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างจริงจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น